สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีปริมาณ 1.78 ล้านตัน มูลค่า 34,392 ล้านบาท ปริมาณลดลง 31.01% และมูลค่าลดลง 36.57% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาข้าวไทยแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นปีระหว่าง 29-85-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยิ่งทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และไทยไม่มีพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ทั้งจีน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย มีการพัฒนาข้าวพื้นนุ่มต่อเนื่อง และปัจจุบันมีข้าวขาวพื้นนุ่มออกสู่ตลาดในระดับราคาที่ไม่สูงมาก ทำให้แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดสำคัญอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ทั่วโลกประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่า ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 300% โดยเส้นทางเดินเรือไปสหรัฐฯ มีค่าระวางเรือ 5,600-7,000 เหรียญสหรัฐ (ฝั่งตะวันตก) และ 8,800-11,000 เหรียญสหรัฐ (ฝั่งตะวันออก) เส้นทางยุโรปและแอฟริกาก็ปรับตัวสูงขึ้น 5,425-10,750 เหรียญสหรัฐ และ 3,550-6,100 เหรียญสหรัฐตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 เช่น ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ความแออัดของท่าเรือที่เปิดทำการ จำนวนเรือ รวมไปถึงจำนวนพนักงานที่ยังมีจำกัด โดยปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลให้ศักยภาพในการขนส่งทางเรือลดลงและค่าบริการปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง
ไม่เพียงแค่นั้น ผลจากการที่ฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าข้าวในปี 2562 โดยประกาศใช้กฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าว (Rice Tariffication Law) ซึ่งได้ยกเลิกการใช้นโยบายการจำกัดการนำเข้าข้าวเชิงปริมาณ (Quantitative Restriction : QR) และยุติการดำเนินงานของสำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Authority : NFA) ในฐานะผู้นำเข้าข้าวรายเดียวของฟิลิปปินส์ ทำให้การซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับ NFA ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในช่องทางการขายข้าวหลักของไทยกับฟิลิปปินส์ถูกยกเลิกตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้ตลาดข้าวมีการแข่งขันมากขึ้น ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าข้าวจากแหล่งต่างๆ ได้โดยที่ราคาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่บริโภคข้าวในตลาดระดับล่าง-กลาง ซึ่งบริโภคข้าวขาวเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้นำเข้าเลือกซื้อข้าวจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย เช่น อินเดีย และเวียดนาม โดยจะเห็นได้จากการนำเข้าข้าวจากไทยในปี 2563 ปริมาณ 76,733 ตัน ลดลงกว่า 78.10% จากปี 2562 ซึ่งมีปริมาณ 350,349 ตัน และส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยลดลงจาก 12.66% ในปี 2562 เหลือเพียง 3.68% ในปี 2563 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดข้าวเวียดนามและอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 73.13% เป็น 85.76% และจาก 0.49% เป็น 1.12% ตามลำดับ
อีกด้าน จีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าหลัก มีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 3.2 ล้านตัน ได้เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งออกข้าว หลังจากที่ปัจจุบันผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีสต๊อกข้าวสารกว่า 115 ล้านตัน ซึ่งจีนได้ทยอยระบายข้าวออกสู่ตลาดโดยเฉพาะภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาวหลักของไทย
ขณะที่ อินเดีย ก็ผลิตข้าวได้จำนวนมาก โดยเพาะปลูกข้าวได้ผลผลิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ในปี 2564 คาดว่าอินเดียจะมีปริมาณผลผลิตข้าวมากถึง 121 ล้านตัน ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ส่งผลให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวในระดับราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก จึงเป็นที่ต้องการของประเทศผู้นำเข้าข้าวในตลาดทั่วไป (Mass Market) โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งข้าวจากอินเดียสามารถเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทยและเวียดนามได้มากขึ้น
ส่วน เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (European Union-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 โดยเวียดนามได้รับจัดสรรโควตาข้าวภายใต้ความตกลงดังกล่าวปริมาณ 80,000 ตัน และยังได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักร (The UK - Vietnam Free Trade Agreement : UKVFTA) โดยได้รับจัดสรรโควตาข้าวปริมาณ 13,358 ตัน ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 ทั้งนี้ สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวเวียดนามในตลาดสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น
แนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังปี 64
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ 1.78 ล้านตัน หรือเดือนละประมาณ 3.56 แสนตัน โดยคาดว่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าไทยอาจส่งออกข้าวได้เดือนละประมาณ 4-5 แสนตัน และปริมาณการส่งออกรวมทั้งปีจะอยู่ที่ปริมาณ 4-4.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่เงินบาทอ่อนค่า โดยอยู่ในกรอบ 31.10-31.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จาก 29.85-30.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงต้นปี หากอ่อนค่าต่อเนื่องก็จะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตข้าวปี 2563/64 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีปริมาณ 29.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.49% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณ 28.28 ล้านตัน และราคาปรับลดลงในระดับที่แข่งขันได้ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รวมถึงตลาดในภูมิภาคแอฟริกา ส่วนผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ จีน ญี่ปุ่น แคเมอรูน และเบนิน ยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยและนำเข้าข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลาย
นายกีรติกล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือสูง ซึ่งเคยเป็นปัญหาได้เริ่มคลี่คลาย ตามการคลี่คลายของการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการและเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่มีอยู่ทั่วโลกเริ่มกลับมาหมุนเวียนในระบบการค้าได้ใกล้เคียงกับความต้องการใช้
ขณะที่จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตตู้คอนเนอร์รายใหญ่ ยังประกาศจะผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มกว่า 300,000 ตู้เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสายการเดินเรือจะเริ่มกลับมาให้บริการตามปกติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาค่าระวางเรือสูงได้ และส่งผลดีทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ลุ้นขายข้าวจีทูจีได้เพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการทำตลาดส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง นายกีรติกล่าวว่า กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้ได้เพิ่มขึ้น ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวกับอินโดนีเซียและบังกลาเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ซื้อ-ขายข้าวระหว่างกันปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งหากประเทศดังกล่าวประสงค์จะซื้อข้าวจากไทยภายใต้ MOU ก็จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 เพิ่มขึ้น รวมทั้งสัญญาจีทูจีกับ COFCO Corporation ของรัฐบาลจีนที่เหลือข้าว ซึ่งต้องส่งมอบอีกประมาณ 2.8 แสนตัน ก็จะเร่งผลักดันให้มีการซื้อให้ครบตามสัญญาต่อไป
ทำตลาด-เปิดตลาดผ่านช่องทางออนไลน์
นายกีรติกล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กรมฯ ไม่สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทยได้ตามปกติ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยจากออฟไลน์ให้เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โดยเน้นการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้แนวคิด “Think Rice Think Thailand” หรือ “เมื่อคิดถึงข้าว ให้คิดถึงไทย” เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคข้าวไทยเพิ่มขึ้น โดยได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น โครงการจัดประกวดเมนูข้าวไทย “Thai Rice…My Menu” โดยประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศเข้าร่วมการประกวดผ่านการส่งคลิปทำอาหารจากข้าวไทย โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล Gift Voucher จากร้านอาหารไทยในต่างประเทศ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดการประชุมหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าว รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าในศักยภาพการเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพของไทย โดยในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดประชุมหารือกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญไปแล้วหลายประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น อิรัก ได้หารือกับกระทรวงการค้าสาธารณรัฐอิรัก เกี่ยวกับความคืบหน้าร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการซื้อขายข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการค้าอิรัก ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นฟูตลาดข้าวไทยในอิรัก ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ฮ่องกง ได้หารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง โดยบรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยความชื่นมื่น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนาน โดยมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ตลาดข้าว และปัญหา อุปสรรคในการค้าข้าวระหว่างกัน และในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ภาษาจีนกวางตุ้งที่ได้รับอนุมัติการจดทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นข้าวเกรดพรีเมียมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้บริโภคในฮ่องกง
ฟิลิปปินส์ ได้หารือกับผู้ประกอบการค้าข้าวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยได้พบปะหารือกับผู้นำเข้าข้าวเอกชนของฟิลิปปินส์ หลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกนโยบายการจำกัดการนำเข้าข้าวและอนุญาตให้เอกชนสามารถนำเข้าข้าวได้อย่างเสรี โดยมีผู้ประกอบการค้าข้าวฟิลิปปินส์ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้กว่า 20 ราย ประกอบด้วย ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการห้างค้าปลีก และตัวแทนผู้กระจายสินค้า ซึ่งฝ่ายฟิลิปปินส์ได้เสนอให้ไทยจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทยในฟิลิปปินส์ เช่น การจัดกิจกรรม In-store Promotion ในห้างสรรพสินค้าหรือห้างค้าปลีก โดยในช่วงแรกเสนอให้ลดราคาข้าวไทยเพื่อให้ผู้บริโภคฟิลิปปินส์ได้ลองชิมรสชาติข้าวไทยที่มีความหลากหลายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้สูงขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าวฟิลิปปินส์ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับข้าวไทยที่จะรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะหารือกับผู้นำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น เพื่อผลักดันและขยายตลาดส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง
ขายข้าวตามกลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต”
นายกีรติกล่าวว่า กรมฯ ยังจะเร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ด้านการตลาดต่างประเทศ โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก โดยได้แบ่งกลุ่มข้าวไทยออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ได้แก่ ตลาดพรีเมียม ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมไทย โดยมุ่งเน้นตลาดกำลังซื้อสูง ซึ่งให้ความสำคัญต่อคุณภาพของสินค้ามากกว่าปัจจัยด้านราคา เช่น สหรัฐฯ จีน แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์
ตลาดทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวขาวพื้นนุ่ม และข้าวนึ่ง โดยมุ่งเน้นตลาดที่บริโภคข้าวเป็นหลักและเน้นการซื้อปริมาณมาก โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก เช่น บังกลาเทศ อิรัก อินโดนีเซีย และภูมิภาคแอฟริกา เช่น อังโกลา โมซัมบิก แคเมอรูน และแอฟริกาใต้
ตลาดเฉพาะ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว และข้าวสี ข้าวคุณลักษณะพิเศษ โดยเน้นเจาะกลุ่มตลาดกำลังซื้อสูง ซึ่งผู้บริโภคมีแนวโน้มรักสุขภาพเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และแคนาดา
มั่นใจส่งออกฟื้น-ทวงตลาดข้าวคืน
นายกีรติกล่าวว่า หลังจากที่กรมฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย มีเป้าหมายให้ข้าวไทยเป็นหนึ่งด้านคุณภาพและมาตรฐาน โดยกรมฯ ได้มีการจัดทำมาตรฐานข้าวไทยเพื่อการส่งออกสำหรับข้าว (ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว) ข้าวหอมไทย ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวสีไทย และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรฐานสินค้าข้าวนุ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงดำเนินการยกระดับและอำนวยความสะดวกด้านมาตรฐานการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยด้วยการปรับปรุงข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน
นอกจากนี้ กรมฯ จะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาและเพิ่มหน่วยตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการยกระดับศักยภาพการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยให้แก่ผู้ซื้อทั่วโลก และยังจะเร่งการจดทะเบียนและต่ออายุเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย โดยปัจจุบันกรมฯ ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยในประเทศคู่ค้าแล้ว 48 ประเทศ รวมทั้งได้จดทะเบียนเป็นภาษาจีน (กวางตุ้ง) ในฮ่องกง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศ
“กรมฯ มั่นใจว่าผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางที่สูงขึ้นเบาบางลง การมีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นการบริโภค การเพิ่มช่องทางการเปิดตลาดข้าวไทยผ่านทางออนไลน์ การผลักดันกลยุทธ์ตลาดนำการผลิตที่มุ่งขายข้าวให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด และการเดินหน้าสร้างมาตรฐานให้แก่ข้าวไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มยอดการส่งออกข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และทวงคืนตลาดข้าวไทยที่เคยเสียไปให้คู่แข่งกลับคืนมาได้” นายกีรติกล่าว