xs
xsm
sm
md
lg

แหลมฉบังเฟส 3 เจรจาจบแล้ว! กทท.ไม่รับข้อเสนอซอง 5 ลุ้นชงอีอีซี 16 ก.ค.อนุมัติเซ็น “กัลฟ์-ปตท.” ต้น ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจรจาจบแล้ว แหลมฉบังเฟส 3 กทท.ไม่รับข้อเสนอซอง 5 ลุ้นอัยการตรวจร่างสัญญาจบ ชงบอร์ดอีอีซี 16 ก.ค. คาดเซ็นร่วมทุนฯ “กัลฟ์-ปตท.” ไม่เกินต้น ส.ค. ย้ำไม่ทอดทิ้ง ปชช. ตั้งงบ 1.8 พันล้านเยียวยาชาวประมง และตั้ง “มูลนิธิท่าเรือชุมชนร่วมใจ” ดูแลผลกระทบจากการก่อสร้าง

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า หลังจากได้เปิดซองที่ 5 ซึ่งเป็นข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยคณะทำงานฯ ที่มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นปรธาน และมีผู้แทนจากอีอีซี จาก กทท. และฝ่ายกฎหมายอีอีซี ฯลฯ ได้เจรจาเรียบร้อยตามเงื่อนไข RFP โดยพบว่าซอง 5 มีข้อเสนออื่นๆ ไม่มีประเด็นที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ จึงไม่รับข้อเสนอซองที่ 5 และได้สรุปร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

ทั้งนี้ อัยการสูงสุดได้เรียก กทท.และอีอีซีไปชี้แจงรายละเอียดแล้ว คาดว่าจะพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอน กทท.จะเร่งนำเสนอ นักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งจะประชุมในวันที่ 16 ก.ค. เพื่ออนุมัติร่างสัญญาและลงนาม และหลังจากนั้นจะรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยน่าจะลงนามอย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ส.ค. 2564

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปีนั้น ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับ ระยะที่ 1 ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท

@ไม่ทอดทิ้ง ปชช. ตั้งงบ 1,800 ล้านเยียวยาชาวประมง และตั้งมูลนิธิดูแลผลกระทบจากการก่อสร้าง

สำหรับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ กทท.ดำเนินการเองนั้นมี 4 งาน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น 2. งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นั้น

เรือโท กมลศักดิ์กล่าวว่า กทท.ได้ออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) เริ่มงานก่อสร้างทางทะเลไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 มีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปี โดยมีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท ซึ่งยังรอเรื่องใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และเรื่องสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ซึ่งเอกชนจะมีการวางหมุดระดับได้เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ในการดำเนินการก่อสร้างทางทะเลนั้น กทท.ได้ตั้งงบสำหรับเยียวยาผลกระทบ วงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ในระยะ 6 ปี (ระหว่างก่อสร้าง 4 ปี และหลังก่อสร้างเสร็จ 2 ปี) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประมงเล็ก และกลุ่มเลี้ยงหอย โดยอยู่ระหว่างทำข้อมูลและทยอยจ่ายเยียวยา

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิ ท่าเรือชุมชนร่วมใจ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับเยียวยากรณีเกิดเหตุความเสียหายจากการก่อสร้างนอกเหนือคาดหมาย ซึ่งขณะนี้ทางเอกชนผู้ก่อสร้างทางทะเลได้โอนเงินเข้ามูลนิธิประมาณ 50 ล้านบาท และกลุ่มผู้รับสัมปทาน ทลฉ.เฟส 3 จะให้อีกไร่ละ 5,000 บาทเพื่อเป็นกองทุนสำหรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ


กำลังโหลดความคิดเห็น