เงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 64 เพิ่ม 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่มีอัตราชะลอตัวลง เผยน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลัก บวกกับหมู ไข่ ผลไม้เพิ่ม แต่ได้ตัวฉุดจากการลดค่าไฟฟ้า ประปา และอาหารสดบางชนิดทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มเร็ว คาดครึ่งปีหลังยังขยับเพิ่มต่อ พร้อมปรับสมมติฐานคำนวณเงินเฟ้อใหม่ แต่เป้ายังอยู่ที่ 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2%
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย. 2564 เท่ากับ 99.93 เทียบกับเดือน พ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 0.38% เทียบกับ มิ.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.89% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2564 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2563 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 0.27%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัวสูงขึ้นมาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน 8.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสูงถึง 27.60% และยังมีการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร เพราะเกิดโรคระบาด ไข่ไก่ มีการปลดแม่ไก่ ผลไม้สด มีความต้องการเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ เครื่องประกอบอาหาร และน้ำมันพืช ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และการลดลงของอาหารสดบางประเภท เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ที่เป็นปัจจัยทอนให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัว และไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและความต้องการ
โดยในเดือน มิ.ย. 2564 มีสินค้าที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำประปา เนื้อสุกร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ข้าวราดแกง เงาะ ไก่ย่าง ถั่วฝักยาว ลดลง 135 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักชี พริกสด หอมแดง ต้นหอม ฟักทอง ชะอม เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ
นายวิชานันกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังปี 2564 คาดว่าไตรมาส 3 จะขยายตัว 2.13% ไตรมาส 4 ขยายตัว 2.37% เพราะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะไม่ขยายตัวมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีก ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด
ทั้งนี้ ผลจากการที่สมมติฐานเปลี่ยนไป กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานประมาณการเงินเฟ้อปี 2564 ใหม่ โดยคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2% มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 29-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ