xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.หมดหวังเข้าพท.แหล่งเอราวัณ ฉุดแผนผลิตก๊าซฯสะดุดเร่งจัดหาเสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.หมดหวังเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นฯเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาPSC หลังเจรจาเชฟรอนฯมาต่อเนื่อง ทำให้ผลิตก๊าซฯได้ไม่ตามสัญญาPSC แย้มเร่งทำแผนจัดหาก๊าซฯเสริม

แหล่งข่าวระดับสูงบริษัทปตทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน)PTTEPหรือ PTTEP (ปตท.สผ.)เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตในโครงการ G1/61 (เอราวัณ)ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญา PSC กำหนดให้ผลิตก๊าซฯที่800ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากเชฟรอนฯในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณยังไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่

โดยยอมรับว่าถ้าให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณในช่วงนี้ก็คงไม่ทันการแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ปตท.สผ.จะเร่งดำเนินการหาแนวทางจัดหาปิโตรเลียมเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯที่หายไปจากแหล่งเอราวัณอันเนื่องจากไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาPSC

“ หมดหวังแล้ว ถึงเข้าพื้นที่(แหล่งเอราวัณ)ตอนนี้ได้ก็ไม่มีประโยชน์ มันช้าไปซะแล้ว คงต้องหาก๊าซฯจากแหล่งอื่นเข้ามาเพิ่มเติม ”แหล่งข่าวปตท.สผ.กล่าว

ก่อนหน้านี้ ทางปตท.สผ.ขอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสานงานกับเชฟรอนเพื่อให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตจำนวน 8แท่นในพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อให้การผลิตก๊าซฯเป็นไปตามสัญญาPSCในปี2565 เนื่องจากปัจจุบันเชฟรอนฯไม่ได้มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมทำให้ปริมาณก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณคาดว่าจะหายไปราว 200-300ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากสัญญา PSCแหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซฯได้ 800ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยปตท.สผ.จะต้องใช้เวลาราว 1-2ปีจึงจะสามารถทำให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญา

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาก๊าซฯขาดในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางปตท.สผ. จะเร่งผลิตก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของตนเองในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ รวมทั้งปตท.จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาเสริมด้วย

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลขG1/61(แหล่งเอราวัณ) ของกลุ่ม ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ที่ปัจจุบันยังมีความล่าช้า ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกับกลุ่มเชฟรอนฯได้สำเร็จนั้น แม้ว่ากระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พยายามเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการเจราร่วมระหว่าง 3 ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาดำเนินการของกลุ่ม ปตท.สผ.เหลือน้อยลงเรื่อยๆ หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องระยะเวลาการเข้าพื้นที่เกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณของกลุ่มผู้รับสิทธิ์รายใหม่ที่จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา PSC

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงาน คาดหวังว่า จะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้ ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาในทิศทางใดก็ตาม จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯของประเทศไทย เพราะในส่วนของภาครัฐและผู้จัดหาก๊าซ คือ ปตท.ได้จัดเตรียมแผนสำรองไว้รับมือแล้ว โดยยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซฯอย่างแน่นอน

ปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังมีข้อพิพาทกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน โดยทางบริษัทแม่ คือ บริษัทเชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในช่วงปลายปี 2563 ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเพื่อขอให้นำข้อพิพาทหาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ เข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง หลังจากที่เชฟรอนฯ ได้ระงับกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราว ไปเมื่อช่วงดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อให้กลับมาสู่กระบวนการเจรจาให้ได้ข้อยุติ

โดยกรณีดังกล่าวเริ่มจากการที่สัญญาสัมปทานของแหล่งก๊าซเอราวัณที่เชฟรอนได้รับสัมปทานจะสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.2565 รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน จึงได้เปิดการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ (แปลงG1/61) สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งเชฟรอนพ่ายแพ้การประมูลให้กับกลุ่ม ปตท.สผ. ส่งผลให้ตามกฎหมาย การเปลี่ยนผ่านต้องมีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม โดยที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และเชฟรอนได้หารือเพื่อตกลงการส่งมอบแท่น เพื่อให้กลุ่ม ปตท.สผ. เข้ามาใช้ในการผลิตต่อจำนวน 142 แท่น ส่วนอีก 49 แท่นทางเชฟรอนรับภาระรื้อถอนเองทั้งหมด โดย 7 แท่นในจำนวนนี้ ได้รื้อถอนไปทำปะการังเทียมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เชฟรอนยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการ เป็นประเด็นใน 142 แท่น เพราะไม่สามารถตกลงกับกระทรวงพลังงานได้ว่าจะต้องวางเงินค่ารื้อถอนในสัดส่วนเท่าใด โดยเชฟรอนมองว่าแม้ใช้ประโยชน์มานาน 40 ปี แต่ปตท.สผ. เข้ามาใช้ประโยชน์ต่ออีก 10-20 ปี ดังนั้น สัดส่วนการจ่าย ก็ควรจะน้อยลง แต่รัฐกลับให้จ่ายก่อนและจ่ายเต็ม โดยคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น