xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดสมอ.เด้งกลับมาตรฐานสุราสั่งกว.ทบทวนดูแลผู้บริโภคมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด สมอ. เด้งกลับมาตรฐานสุราสั่งก.ทบทวนเกณฑ์ใหม่อีกระลอกหลังพบมาตรฐานที่กำหนดไม่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคสุราของคนไทยที่ดื่มต่อเนื่อง และมีปริมาณมาก ให้ทบทวนปริมาณแอลดีไฮด์ และเมทิลแอลกอฮอล์ รวมถึงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เติมเข้าไปเพิ่มกว่ามาตรฐานเดิมกว่า 2 เท่าซึ่งอันตรายต่อสุขภาพยันความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมากก่อน

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด สมอ. (คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ) เมื่อเร็วๆนี้ได้มีมติให้คณะกรรมการวิชาการรายสาขา (กว.) เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำการทบทวนมาตรฐานสุราได้แก่ สุรากลั่น มอก.2088-2544 ไวน์ มอก.2089-2544 และเบียร์ มอก.2090-2544 ให้กลับไปทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่กำหนดในมาตรฐานฉบับแก้ไขใหม่โดยเห็นว่ามาตรฐานที่ปรับแก้ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมการบริโภคสุราของคนไทยที่ดื่มเป็นประจำและมีปริมาณมาก

“ บอร์ดขอให้ทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่กำหนดในมาตรฐานฉบับแก้ไขใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่ามาตรฐานเดิม เช่น สุรากลั่น กำหนดแอลดีไฮด์ จากเดิม ไม่เกิน 160 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 220 มิลลิกรัมต่อลิตร ในกรณีสุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ เกิน 40 ดีกรี และเมทิลแอลกอฮอล์ จากเดิม ไม่เกิน 420 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับสุราแช่ ได้กำหนดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากเดิม ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเห็นว่าไม่สอดรับกับ พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่มักจะดื่มสุราเป็นประจำ เป็นปริมาณมาก และต่อเนื่อง หากได้รับปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้”นายวันชัยกล่าว

นอกจากนี้ ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้บริโภคที่ได้รับปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอลเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการตาพร่ามัว แพ้แสง ร่วมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในบางรายอาจมีอาการชักหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย บอร์ด สมอ. จึงมีมติให้ กว. นำกลับไปทบทวนก่อนนำเข้าในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ มาตรฐานสุรา ได้ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2516 ต่อมาในปี 2544 ได้มีการทบทวนและยกเลิกมาตรฐานดังกล่าว และประกาศกำหนดเป็นมาตรฐานเรื่องใหม่ 3 เรื่อง คือ สุรากลั่น มอก.2088-2544 ไวน์ มอก.2089-2544 และเบียร์ มอก.2090-2544 ซึ่งในปีนี้ ได้มีการทบทวนมาตรฐานทั้ง 3 เรื่อง เพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นด้วย โดยสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน นอกจากจะทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยข้างต้นแล้ว ยังได้แก้ไขชื่อมาตรฐานจาก ไวน์ เป็น สุราแช่ เพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น