xs
xsm
sm
md
lg

ทุเรียนไทยครองแชมส์ตลาดจีน ผลผลิตคุณภาพไม่พบเชื้อปนเปื้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุเรียนไทย แชมป์ บุกตลาดจีนสำเร็จท่ามกลางโควิด ผลผลิตมีคุณภาพ ยัน ไม่เคยพบเชื้อปนเปื้อน  

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด - 19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และความต้องการซื้อสินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มลดลง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการบริหารจัดการเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน และทันต่อสถานการณ์ ในฐานะเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานในระดับสากล จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทย จะเห็นได้ว่าแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ จำนวนมากกว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยแชมเปี้ยนอันดับหนึ่งคือ ทุเรียน รองลงมา คือ ลำไย และ มังคุด โดยจากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ประเทศที่นำเข้าผลไม้จากไทยมากที่สุดแน่นอน คือ จีน  รองลงมา คือ ฮ่องกง และ เวียดนาม

สำหรับทุเรียน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2563) ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี  สำหรับปี 2564 คาดว่าผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1.24 ล้านตัน ขณะที่การส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจาก 425,059 ตัน มูลค่า 20,050 ล้านบาท  ในปี 2559 เป็น 653,158 ตัน มูลค่า 72,459 ล้านบาท ในปี 2563 สำหรับ ปี 2564 (มกราคม – เมษายน) มีปริมาณการส่งออก ปริมาณ 213,328 ตัน มูลค่า 28,615 ล้านบาท  ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนสด ร้อยละ 95 ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 72)  รองลงมา คือ ฮ่องกง (ร้อยละ 13)  และเวียดนาม (ร้อยละ 12)

ส่วนลำไย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี โดยปี 2564 คาดว่าผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1.41 ล้านตันการส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจาก 552,557 ตัน มูลค่า 20,566 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 631,534 ตัน มูลค่า 24,696 ล้านบาท ในปี 2563 (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี)

สำหรับปี 2564                   (มกราคม – เมษายน) มีปริมาณการส่งออก 209,388 ตัน มูลค่า 8,043 ล้านบาท การส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกลำไยสด กว่าร้อยละ 70  และรองลงมา คือ ลำไยอบแห้ง ร้อยละ 25  ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 77) เวียดนาม (ร้อยละ 11)  และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 6)  
มังคุด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ต่อปี โดยปี 2564 คาดว่าผลผลิตรวมทั้งประเทศ 264,631 ตัน การส่งออกมังคุดและผลิตภัณฑ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 143,248 ตัน มูลค่า 4,308 ล้านบาท                ในปี 2559 เป็น 292,147 ตัน มูลค่า 15,040 ล้านบาท ในปี 2563 (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ      39 ต่อปี) สำหรับ ปี 2564 (มกราคม – เมษายน) มีปริมาณการส่งออก 2,293 ตัน มูลค่า 189 ล้านบาท โดยการส่งออกมังคุดและผลิตภัณฑ์ เป็นการส่งออกมังคุดสดเกือบทั้งหมด ตลาดหลัก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 75) เวียดนาม (ร้อยละ 18) และฮ่องกง  (ร้อยละ 4)

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยมากนัก จีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก             ยังมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงาน เราเข้มงวดมาตรการทุกระดับ ตั้งแต่มาตรการสำหรับเกษตรกรชาวสวน ผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทางจากสวนผลไม้ จนถึงระบบขนส่ง โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก WHO และ FAO ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางจีนให้การยอมรับและแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน ซึ่งจีน ยังได้ชื่นชมระบบบริหารจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัย โดยที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสในผลไม้และบรรจุภัณฑ์จากไทยแต่อย่างใด” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันเส้นทางการส่งออกไปยังจีนมีทั้งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง ทางบก ได้แก่ เส้นทาง R9 เส้นทาง R3A เส้นทาง R 12 ในขณะนี้ได้อนุญาตให้นำเข้าได้ที่ด่านตงซิงโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นมา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ส่งออกผลไม้ไปจีนเพื่อช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน การขนส่งทางเรือ จากแหลมฉบังผ่านเวียดนาม ฮ่องกง ไปจีน ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ซึ่งเป็นการขนส่งผลไม้สดโดยการควบคุมอุณหภูมิในตู้สินค้าเย็น (Reefer) และ การขนส่งทางอากาศ  จีนได้มีการเช่าเหมาเครื่องบินมารับทุเรียนไทย 20 ตัน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 จากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แบบ Pre-Order จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย  และต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ได้มีการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order platform) กับมณฑลส่านซีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ด้วยแพลตฟอร์มใหม่บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชน และสหกรณ์ผลไม้ อาทิ สหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทย ในระดับสหกรณ์ผลไม้ (Cooperative Farm based Branding) ตามแนวทางเกษตรสร้างสรรค์ (Creative Agriculture) เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์จะสามารถขายได้ราคาสูงขึ้น โดยส่งออกทุเรียนทางเครื่องบินล็อตที่สองไปจีนจำนวน 25 ตัน (11,200 ลูก)


กำลังโหลดความคิดเห็น