การตลาด- “ธุรกิจเพลง” คือ ดีเอ็นเอของ แกรมมี่ ช่วงเวลาเอาตัวรอดผ่านพ้นไปแล้ว จากนี้แกรมมี่พร้อมโกยรายได้ ขีดเส้นชัย3ปี โกยรายได้ 8,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 5ปี ฟันกำไรไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ด้วยการขับเคลื่อน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ร่วมทุน YG เดบิวต์ไอดอล, ร่วมหุ้น Rojukiss และShowbiz
เมื่อเอ่ยถึง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ สิ่งแรกที่ทุกคนจะนึกถึง คือ ธุรกิจเพลง เพราะถือเป็น ดีเอ็นเอ ที่เป็นธุรกิจหลักทำให้แกรมมี่เติบโตมาจนถึงวันนี้ จากตลอดระยะเวลามากกว่า 30ปี ปัจจุบันแกรมมี่มีเพลงในคลังมากกว่า 10,000 เพลงคิดเป็นสัดส่วน 60% ของตลาดเพลงในประเทศไทย
ในวันนี้ธุรกิจเพลงยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับแกรมมี่ เห็นได้จากผลประกอบการในไตรมาส1/2564 ที่ผ่านมา แกรมมี่มีรายได้รวม 1,365.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเมื่อแบ่งที่มาของรายได้ จะมาจาก 4 กลุ่มหลัก คือ 1.ธุรกิจเพลง 46.5%, 2.โฮม ช้อปปิ้ง 35.1%, 3.แซทเทิลไลท์ ทีวี แพลตฟอร์ม 6.1% และ4.ภาพยนตร์ 5.3%
อย่างไรก็ตาม การที่รายได้จากธุรกิจเพลงก้าวขึ้นมาอยู่ในสัดส่วนเกือบ 50% นั้น เนื่องจากช่วงไตรมาส1 ทางแกรมมี่มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่
ไม่ว่าจะเป็น 1.ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS ผู้พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เพื่อขยายช่องทางการขายใหม่ใน Media Commerce ประเภทสินค้าสุขภาพและความงามแบบ Direct-to-consumer (D2C) โดยการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ ระหว่างบริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของแกรมมี่ และ KISS โดยจะมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ 2-3 แบรนด์ ในกลุ่ม Media Commerce ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเสริมอาหารในไตรมาส 2 ปีนี้
2.ในเดือนมีนาคม ได้นำบริษัทในกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ONE) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของแกรมมี่ โดยแยกออกมาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นการทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO และนำหุ้นสามัญของ ONE เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจผลิตคอนเทนต์ประเภท ละคร ซีรีส์ และรายการที่มุ่งเน้นการออกอากาศผ่านช่องทางโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิทัลเป็นหลัก และช่องทางคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในระบบ FM
“ปี2564นี้ แกรมมี่คาดการณ์ไว้ว่า การดำเนินงานทั้งรายได้ และกำไรจะเติบโตกว่าปีก่อน เป็นผลมาจากบริษัทมีการปรับโครงสร้างการทำงานของกลุ่มบริษัท ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จะทำให้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ของธุรกิจในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มั่นใจได้ว่าแกรมมี่จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังผ่านวิกฤติโควิด-19ไปแล้ว” นายธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ หน่วยงาน Group Investment บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY เคยกล่าวไว้
ล่าสุดภายในงาน Analyst Meeting Q1 / 2021 Business & Performance Updates ที่ทางแกรมมี่ได้จัดขึ้น นายธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ หน่วยงาน Group Investment บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ทางแกรมมี่มีการปรับโครงสร้างในหลายๆด้าน สู่การเป็นมีเดียเอ็นเตอร์เทนเท้นต์ บิซิเนส และคอนเทนต์โพไวเดอร์
โดยธุรกิจไฮไลท์ในปีนี้ ที่จะให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ธุรกิจเพลง ซึ่งแนวโน้มธุรกิจเพลงของแกรมมี่ถือเป็นอันดับ1 ของไทย และมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกับโกลบอล เห็นได้จากในตลาดเพลงทั่วโลกปี 2563 ที่ผ่านมา เข้าถึงจำนวนผู้ฟังกว่า 443 ล้านคน จากหลากหลายช่องทาง หรือมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
พบว่าในรูปแบบสตรีมมิ่ง ครองสัดส่วนกว่า 62.1% ตามมาด้วย ซับสคริปชั่น ออดิโอ สตรีมส์ 46%, ฟิสิกส์เคิล 19.5%, Ad-supported streams 16.2%, Performance rights 10.6%, ดาวน์โหลด 5.8% และ Synchronisation 2%
ดังนั้นล่าสุดช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แกรมมี่ จึงได้ร่วมทุนกับ วายจีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อิงค์ (YG) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศิลปินไอดอล มูลค่าทุนจดทะเบียนในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว มีจำนวน 200 ล้านบาท โดยแกรมมี่ถือหุ้นร้อยละ 51 จากในแต่ละปี ธุรกิจเพลง จะใช้งบลงทุนอยู่ประมาณ 350-400 ล้านบาท ครั้งนี้แกรมมี่ลงทุนกับ YG ใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งการร่วมทุน กับ YG นั้น ตามแผนต้องเดบิวต์ถึง 5 ปี ทางแกรมมี่เองมองแบบ conservative คือ เป็น5 ปีที่สามารถเดบิวต์ได้ ซึ่งเร็วสุดอาจจะประมาณ 3 ปี คาดว่าโอกาสการคืนทุนจะอยู่ที่ภายใน 5-7ปี แต่ยังไม่รวมผลประโยชน์ทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินปัจจุบัน
ในสัญญาจัดตั้งร่วมทุนกับ YG ครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศิลปินใหม่เป็นหลัก แต่การจัดคอนเสิร์ตร่วมกันจะขึ้นอยู่กับการเจรจาครั้งต่อๆไปในอนาคต
“การที่หันมาโฟกัสตลาดไอดอล กับการร่วมทุนกับทาง YG เนื่องจากก่อนหน้านี้ GRAMMY ทำตลาด ไอดอลมาแล้ว 3-4 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังรู้สึกว่าสามารถทำได้ดีมากกว่านี้ เพราะมองว่าเซกเม้นต์นี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกสูงมาก อีกทั้งยังเป็นเซกเม้นต์ที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้นสูงมากและเติบโตเร็วมาก เห็นได้จากมูลค่าตลาดไอดอลในเอเชียปี2563 ที่ผ่านมา ศิลปินอันดับ1 ในกลุ่ม global music คือ วง BTS ของค่าย Big Hits ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทำรายได้ได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในปีเดียว สะท้อนความใหญ่ของตลาดไอดอลได้เป็นอย่างดี และเป็นประเภทเพลงที่เติบโตเร็วที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา”
สำหรับในส่วนของธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ถือเป็นอีกธุรกิจที่ทางแกรมมี่ให้ความสำคัญ โดยในปีนี้คาดว่า รายได้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS และ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เพื่อผลิตสินค้าเครื่องสำอางจากกัญชง เข้ามาสร้างโอกาสในการแข่งขันในภาวะที่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในประเทศแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยปัจจุบันธุรกิจโฮมช้อปปิ้งมีสัดส่วนรายได้ 31%
“ปีนี้บริษัทได้ลงทุนกับ O shopping ด้วยการใช้ประมาณราว 50 ล้านบาท ตามแผนของ O-shopping จะต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง ซึ่งทางแกรมมี่มองการเป็นพันธมิตรกับสินค้าเท่านั้น ยังไม่มีแผนที่จะเป็นเจ้าของโรงงานเอง เพราะสิ่งที่แกรมมี่ชำนาญคือ ส่วนของ Artist และ Media Marketing ขณะที่ในเวลานี้ O shopping กำลังศึกษาการดำเนินธุรกิจใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 1-2 ดีล คาดว่า 1 ดีลจะชัดเจนในไตรมาส4 ปีนี้” นายธนากร กล่าว
อย่างไรก็ตามในภาวะที่ยังรับวัคซีนไม่ได้ ตามแผนรายได้จาก Digital music และ Rights management จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องด้วยส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาว ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คือ Showbiz และ Artist management
อย่างไรก็ดีทางแกรมมี่ มีรายได้จาก การร่วมทุน เข้ามาช่วยจากการเติบโตของ The ONE Ent. ประกอบกับมีกำไรพิเศษจากสิทธิการเข้าลงทุนในหุ้น Rojukiss ซึ่งเป็น strategic partner กับทาง GMM O Shopping
ดังนั้นทางแกรมมี่จึงคาดว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินเป็นปกติ หรือในต้นปี 2565 จะเห็นพัฒนาการของรายได้และกำไรสุทธิชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าแกรมมี่จะมีโอกาสทำกำไรจากการดำเนินงานปกติทะลุปี 2019 ได้ใน 2 ปี หรือในปี 2566
ทั้งนี้ ยังมองว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มั่นใจว่า ธุรกิจ Showbiz จะกลับมามีโอกาสเติบโตอีกครั้ง จาก 1. Focus ใน size ที่ทำ Profit Margin สูง, 2.การสร้าง platform ของ showbiz ผ่านรูปแบบ branding เช่นแต่ก่อนมี big mountain, นั่งเล่นซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดคอนเสิร์ตในภูมิภาคต่างๆเล่น เชียงใหญ่ (เชียงใหม่), พุ่งใต้ (หาดใหญ่) และในภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับการจัดคอนเสิร์ตประเภท solo concert และ theme concert,
3. International concert ในปี 2023 เป็นต้นไป, 4. การจัดทำ Big data อย่างต่อเนื่อง ทำให้ infrastructure ของ showbiz platform แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็น growth engine สำคัญ
ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ เคยทำกำไรสูงสุดถึง 700 ล้านบาทในปี2551 เชื่อมั่นว่า 5 ปีจากนี้ ธุรกิจเพลงจะสามารถกลับทำกำไรได้ระดับสูงกว่า 350 - 500 ล้านบาท
จากยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่าจะเติบโต เช่น การขยายตัวของ Digital Platform, ธุรกิจ Showbiz ขยายสู่ตลาด International คาดรายได้ทะลุ 1,000ล้านบาท, การปรับโครงสร้างทางธุรกิจพร้อมกับมี Partnershipใหม่ๆ เพิ่ม Profit Margin ให้กับ GMM O shopping และผลกำไรจากการลงทุนใน content provider ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง The ONE Ent. และสุดท้ายกับการที่แกรมมี่เองตั้งใจบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเห็นโอกาสลดต้นทุนลงได้ 150-200 ล้านบาทใน 2-3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ในปี 2567-2568 เชื่อได้ว่า แกรมมี่จะสามารถสร้าง Net Profit Margin ได้ที่ 15%-18% จากรายได้รวมที่จะต้องทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 7,500-8,000 ล้านบาท.