xs
xsm
sm
md
lg

พิษโควิด-19! ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.64 วูบต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.64 ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 8 เดือน หลังเจอพิษโควิด-19 ทำความเชื่อมั่นหด แถมการเมืองไม่นิ่ง ฉีดวัคซีนล่าช้า คาดเดือนมิ.ย. จะกลับมาฟื้นตัว เหตุรัฐเร่งฉีดวัคซีน มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาการระบาดจะหยุดหรือไม่ รัฐจะอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มอีกมากน้อยแค่ไหน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.2564 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,243 ราย ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 44.7 ลดจากเดือนเม.ย.2564 ที่อยู่ระดับ 46.0 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนต.ค.2541 เป็นต้นมา และดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังปรับตัวลดลง ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.9 ลดจาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 41.3 ลดจาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.7

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง มาจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ปัญหาการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นในระดับหนึ่งก็ตาม

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นเรื่องปกติ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในเดือนเม.ย. และพ.ค. ที่มีการแพร่กระจายไปทั่ว มีอัตราการติดเชื้อสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความวิตกกังวล และยังมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ บางธุรกิจ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง ดูได้จากดัชนีการซื้ออยู่ในระดับที่ต่ำในรอบ 1 ปี และการท่องเที่ยวยังชะงัก”นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนมิ.ย.2564 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่มีการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีน ก็ดำเนินการเป็นวงกว้าง และมีแผนการฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม และมีวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาในประเทศมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ก็ต้องติดตามการฉีดวัคซีนว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ การแพร่กระจายของโควิด-19 จะลดลงหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตมากน้อยเพียงใด เพราะล้วนแต่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในปีนี้ ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 2% ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น