xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เปิดโครงการชะลอการขายยางฯ ระยะ 2 เริ่ม มิ.ย. -ก.ย. 64 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากที่ กยท.ได้ดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ ได้ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วยมีเสถียรภาพ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ามีผลต่างของราคาที่จำหน่ายสูงสุดที่ 4.50 บาทต่อกิโลกรัม จากผลที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในภาคอื่นๆ มีความต้องการให้ กยท.ขยายผลโครงการออกไปยังภาคต่างๆ ดังนั้น คณะกรรมการ กยท.จึงได้เห็นชอบให้ขยายโครงการในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง“ ซึ่ง กยท.กำหนดระยะดำเนินการของโครงการนี้เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

“โครงการชะลอการขายยางฯ ระยะ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด รวมถึงเพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคายางให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และที่สำคัญอีกประการ เป็นการยกระดับราคาซื้อขายยางในตลาด และเกิดการแข่งขันที่เป็นไปตามกลไกตลาด โดยเป้าหมายให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียรคีอการยางแห่งประเทศไทยรับหน้าที่บริหารจัดการยางของสมาชิก มีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการรวม 79 สถาบัน จำนวนสมาชิก 45,800 ราย ซึ่งชนิดยางที่เข้าร่วม ได้แก่ ยางก้อนถ้วย และน้ำยางสด เป้าหมายของระยะนี้ที่ 20,300 ตัน โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนา 49(3) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเสริมสภาพคล่องให้แก่สถาบันเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 276.066 ล้านบาท”

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนดำเนินการนั้น สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับสินเชื่อวงเงิน 80% ของมูลค่ายาง และได้รับค่าบริหารโครงการ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่การกำหนดราคากลางสำหรับประเมินสินเชื่อ กยท.จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันของราคากลางเปิดตลาดของยางชนิดนั้นๆ ในส่วนของยางที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้ว่าการ กยท.ชี้แจงว่า ต้องขายผ่านตลาดกลางยางพารา หรือตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราจังหวัดของ กยท.เท่านั้น
“ส่วนการส่งใช้เงินคืน สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางต้องส่งใช้เงินคืนในวงเงินที่ได้รับอนุมัติเต็มจำนวน โดยไม่เสียดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก มีกำหนดสิ้นสุดภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564 แต่หากสถาบันเกษตรกรไม่ขายยางเป็นเวลาติดต่อกันตามที่กำหนด จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามระเบียบ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีของมูลค่ายางที่ขอสินเชื่อโดยไม่ขาย”

นายณกรณ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพยาง และการจัดเก็บ ทาง กยท.จึงกำหนดมาตรการจัดเก็บแยกตามชนิดยาง คือ ยางก้อนถ้วย ค่า DRC 75% ระยะเวลาเก็บไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจะจัดเก็บไว้ที่สถาบันเกษตรกรให้อยู่ในสภาพดีในสถานที่ที่เหมาะต่อการจัดเก็บยาง เช่น ทำนั่งร้านในสวน หรือโกดังจัดเก็บ ส่วนของน้ำยางสด DRC 100% ซึ่งต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยไม่เสียคุณภาพในแท็งก์ที่ได้มาตรฐานที่ กยท.กำหนด

“กยท.เชื่อมั่นว่าโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ระยะ 2 สร้างประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าด้านการยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการยกระดับราคายางก้อนถ้วยแห้ง เพิ่มมูลค่า สร้างความมั่นคงเรื่องรายได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้ยางที่มีคุณภาพที่ดี และที่สำคัญคือ ช่วยลดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเคลื่อนย้ายยางก้อนถ้วยดั่งที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถาบันเกษตรกรหรือเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดในพื้นที่ทุกแห่ง” นายณกรณ์กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น