“สุริยะ” ปลื้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เม.ย.แตะระดับ 91.88 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.46% ส่งผลให้ 4 เดือน MPI โต 4.38% มั่นใจไปต่อแม้จะมีการระบาดโควิด-19 รอบใหม่แต่เชื่อจะไม่กระทบห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม จับตาอัตราการใช้กำลังการผลิต เม.ย.เริ่มลดลงจากเดือน มี.ค.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.88 เพิ่มขึ้น18.46% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้ MPI 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 64) เพิ่มขึ้น 4.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากที่หลายประเทศมีความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์ที่เติบโตมากขึ้น
“แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเชื่อมั่นว่าจะเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย” นายสุริยะกล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI เม.ย.ขยายตัวต่อเนื่องมาจากปัจจัยหลัก คือภาคการส่งออกของไทย เม.ย.ที่ส่งออกไทยโตสุดรอบ 3 ปีตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับฐานการผลิต เม.ย. 63 ที่ต่ำเพราะมีการล็อกดาวน์จากการระบาดโควิด-19 รอบแรก ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน เม.ย. 64 อยู่ที่ 59.58% เมื่อเทียบกับช่วง มี.ค. 2564 CapU อยู่ที่ 70.65% แต่หากเทียบกับ เม.ย. 2563 ซึ่ง CapU 51.87% ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ 4 เดือนแรกมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 65.48%
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อ MPI เดือน เม.ย. 64 ได้แก่ รถยนต์ ที่ขยายตัวในระดับสูงถึง 288.06% จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ย 4.38% อัตราใช้กำลังการผลิต 65.48% เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตหลายราย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขยายตัว 75.61% จากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เริ่มดีขึ้นจึงมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เหล็ก 29.2% โดยขยายตัวเกือบทุกรายการสินค้าเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น