“จุรินทร์” ลงพื้นที่ติดตามผลมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพริกและฟักทอง เผยพริกมีการจ่ายชดเชยให้กิโลกรัมละ 5 บาท โอนเงินภายใน 3 วัน แต่ต้องมาขึ้นทะเบียน ส่วนฟักทองเร่งเชื่อมโยงตลาด ทั้งขายเข้าห้าง ภาคส่วนอื่นๆ ระบายได้แล้วกว่า 500 ตัน ดันราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และตรวจจุดรับซื้อพริกเขียวมันของ นางขวัญใจ รสทิพย์ หมู่ที่ 6 ตําบลทรายขาว อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องพริกเขียวที่จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช รวมถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ และหลายจังหวัดควบคู่กันไปแล้ว โดยได้จัดเงินหนึ่งก้อนเข้ามาช่วย มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด ช่วยกันจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรกิโลกรัมละ 5 บาท เกษตรกรจะมีรายได้จากราคาที่ขายในตลาด เช่น 9-10 บาท บวกเงินชดเชยอีก 5 บาท จะช่วยทำให้เกษตรกรอยู่ได้
โดยเงินชดเชย 5 บาทจะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง แต่เกษตรกรต้องมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพริก และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะโอนให้ภายใน 3 วัน หากพบปัญหาให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หรือเกษตรตำบลได้
“ปกติพริกจะไม่มีปัญหา เกษตรกรอยู่ได้ เพราะมีตลาดใหญ่คือประเทศมาเลเซียรับซื้อไปทำซอสพริก และทำวัตถุดิบในร้านอาหารไทยในมาเลเซีย แต่ช่วงนี้ติดโควิด-19 มาเลเซียรับซื้อน้อยลง ความต้องการในการบริโภคลดลงและสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้พริกราคาตกจากกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท เหลือ 7-8 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้เข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคาฟักทอง โดยได้เป็นประธานปล่อยคาราวานขบวนฟักทอง ณ วัดเกษตรชลธี หมู่ที่ 1 ตําบลตะเครียะ อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อระบายฟักทองออกจากอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ไปยังกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกจนถึงชายแดนจังหวัดตราด เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ตัน และยังได้ประสานงานรับออเดอร์จากห้างสรรพสินค้าและภาคส่วนอื่นๆ สามารถระบายฟักทองอำเภอระโนดและพื้นที่อื่นๆ ได้แล้ว 400 ตัน
“ปัญหาฟักทองที่ผ่านมาพึ่งตลาดทั้งในประเทศและตลาดมาเลเซีย วิกฤตที่มาเลเซียเป็นวิกฤตเดียวกับพริกเขียวมัน คือ รับซื้อน้อยลง การบริโภคลดลง ทำให้เหลือผลผลิตจำนวนมากและราคาตก จึงมีมาตรการที่ทุกฝ่ายช่วยกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสงขลา ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่พาณิชย์จังหวัดได้ประสานงานร่วมกับจังหวัด ร้านอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดหาผู้รับซื้อฟักทองจากเกษตรกรโดยตรง ช่วยให้สามารถระบายฟักทองออกไปได้เป็นจำนวนมาก”
สำหรับภาพรวมผลผลิตฟักทองจังหวัดสงขลาตกปีละ 4,000 ตัน ปลูกมากที่สุดที่อำเภอระโนด 2,800 ตัน และอำเภอเทพา 350 ตัน อำเภอสทิงพระ 300 ตัน อำเภอกระแสสินธุ์ 250 ตัน อำเภอจะนะ 225 ตัน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันราคาฟักทองได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมกิโลกรัมละ 2-4 บาท ขึ้นมาเป็น 7 บาท และถ้าคุณภาพดีราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10 บาท และนายจุรินทร์ยังได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศช่วยระบายผลผลิตฟักทอง และมอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อระบายฟักทองออกสู่ต่างประเทศด้วย