xs
xsm
sm
md
lg

สกพอ.เผยรถไฟเชื่อม 3 สนามบินคืบ ก.ย.ส่งมอบพื้นที่ครบพร้อมก่อสร้างเปิดบริการปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรุดหน้าเตรียมส่งมอบพื้นที่ได้หมดภายในเดือนกันยายนนี้หลังล่าสุดคืบหน้าแล้ว 86% เอกชนคู่สัญญาพร้อมลุยก่อสร้างทันที พร้อยกระดับบริการแอร์พอร์ตลิงก์มั่นใจเปิดบริการได้ช่วงปี 2568 พร้อมปรับบูมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี
เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) มูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ว่า ขณะนี้ รฟท.ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ โดยงานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว ขณะที่การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของ รฟท.ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 นี้ และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการช่วงปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

“ขณะนี้เอกชนคู่สัญญาได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ สำนักงานสนาม บ้านพักคนงาน) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างทันทีเมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาจาก รฟท. โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภาในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด” นายคณิศกล่าว

สำหรับการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ขณะนี้ รฟท.พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพ ซึ่งได้เสนอมายัง รฟท.มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้าเพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

2.) ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณ์และบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

3.) ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น