ส่งออก เม.ย. 64 ทำได้มูลค่า 21,429.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.09% โตสูงสุดรอบ 36 เดือน ส่วนยอดรวม 4 เดือน เพิ่ม 4.78% เผยสินค้าและตลาดขยายตัวชัดเจน หลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว “จุรินทร์” ใจแข็งไม่ปรับเป้าส่งออก ขอทำงานร่วมเอกชนเพิ่มยอดให้ได้มากที่สุด พร้อมสั่งเจรจาเปิดตลาดรัสเซีย ตะวันออกกลาง เร่งทำเอฟทีเอ มินิเอฟทีเอ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. 2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.09% เป็นการขยายตัวเติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจาก เม.ย. 2561 และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกที่เป็นภาคการผลิตจริงจะขยายตัวได้สูงถึง 25.70% และการนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.79% เกินดุลการค้ามูลค่า 182.48 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 85,577.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.78% ซึ่งเติบโตเกินไปกว่าเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4% แล้ว และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก การส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 11.58% และการนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.85% เกินดุลการค้ามูลค่า 698.14 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด สินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)
ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลักเพิ่ม 15.8% ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่ม 9%, 2.7% และ 52.5% ตลาดศักยภาพสูงเพิ่ม 18.8% เช่น จีน เพิ่ม 21.9% เอเชียใต้ เพิ่ม 149.9% และ CLMV เพิ่ม 44.3% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 4.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 47.8% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 39.1% ละตินอเมริกา เพิ่ม 82.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 25.3% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 50.1% และตะวันออกกลาง เพิ่ม 65.7%
นายภูสิตกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งอออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกขณะนี้ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะปี 2564 ตัวเลขเดือน ม.ค.ิ2564 เป็นบวก เดือน มี.ค. 2564 บวกถึง 8.47% และ เม.ย. 2564 บวกอีก 13.09% เป็นการบวกสูงสุดในรอบ 3 ปี ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ทำให้ปัญหาอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดข้องสามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเปิดด่านเร่งรัดการค้าชายแดน การแก้ปัญหาส่งออกบริเวณด่านเวียดนามกับจีน การแก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการผลักดันให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง
ส่วนการปรับเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 4% ในปี 2564 ยังไม่จำเป็นต้องปรับเป้า แต่ได้มอบนโยบายการทำงานไปแล้ว จะต้องจับมือกับภาคเอกชน และทำตัวเลขให้ได้เกินเป้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถ และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ จับมือภาคเอกชนเร่งเปิดตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งเร่งทำเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) และประเทศอื่นๆ รวมทั้งเร่งรัดมินิเอฟทีเอกับมณฑลไห่หนานของจีน รัฐเตลังกานาของอินเดีย และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
“การส่งออกถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเรียกว่าเป็นพระเอกก็ได้ เพราะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่มีผลเป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะมีผลในการทำให้จีดีพีของไทยในปี 2564 เป็นบวกได้” นายจุรินทร์กล่าว