สนค.เผยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกหันมาสนใจสุขภาพหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มมากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทยใช้จุดแข็งการเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลายผลิตสินค้าป้อนความต้องการ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารเสริมและวิตามินทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย (Immune System) จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยจะใช้จุดแข็งของสมุนไพรไทย บวกกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการวิจัยเพิ่มเติม ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงอาหารเสริมต่างๆ ของไทย เพื่อขยายตลาดต่างประเทศและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก
ทั้งนี้ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีผลวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคของบริษัท Mintel ยืนยันว่าผู้บริโภคในทวีปยุโรปให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมังสวิรัติ (Vegan) และมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย (Low Lactose) ในขณะที่ผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือเน้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารตกแต่งพันธุกรรม (GMO Free) และผู้บริโภคในทวีปเอเชียนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและปราศจากสารปรุงแต่ง โดยผู้บริโภคทั่วโลกยังคงนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากที่สุด รองลงมาคือ แบบเม็ด แบบผง และแบบน้ำ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ มีฉลากชัดเจน และมีความโปร่งใสตรวจสอบในที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ได้ โดยผู้บริโภคทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมและวิตามินที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากกว่าที่ใส่สารปรุงแต่ง และผู้บริโภคชาวอเมริกัน ร้อยละ 27 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากสินค้านั้นเป็นอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง (whole food ingredients) และร้อยละ 35 ต้องการทราบที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์
สำหรับแนวโน้มอาหารเสริมและวิตามินในอนาคตที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญมี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) ผู้บริโภคทั่วโลกกว่าร้อยละ 70 ต้องการอาหารเสริมหรือวิตามินที่สามารถปรับสมดุลในร่างกายเพื่อช่วยในการนอนหลับและลดความเครียด โดยเน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคภายในช่องปาก และช่วยรักษาผิวพรรณ
2. ความกังวลต่อโรคอุบัติใหม่และปัญหาสุขภาพ (New and emerging health concerns) โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันร้อยละ 35 จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างภูมิคุ้มกันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มทดแทน ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 47 ของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มเติม จะหาซื้อในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่ม และร้อยละ 63 จะนิยมเครื่องดื่มบำรุงสายตา ในขณะที่ผู้บริโภคชาวเยอรมัน อายุระหว่าง 55-64 ปี ร้อยละ 41 นิยมรับประทานในรูปแบบของโยเกิร์ต
3. การผสมผสานกับอาหารและเครื่องดื่ม (Align with food and drink) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินที่มาจากพืชและโปรตีนทางเลือกจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคชาวออสเตรเลียร้อยละ 24 ให้ความสำคัญต่อการเลือกอาหารที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้บริโภคในยุโรปร้อยละ 45 เชื่อว่าการรับประทานอาหารจากพืช (plant-base) ส่งผลดีต่อร่างกาย และผู้บริโภคชาวโปแลนด์และฝรั่งเศส ร้อยละ 34 และ 35 ตามลำดับ นิยมรับประทานเครื่องดื่มจากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองและโยเกิร์ตที่มาจากพืชมากกว่าสัตว์
4. การผสมผสานกับความสวยความงาม (Beauty Benefit) กรดไฮยาลูรอนิก (hyaluronic acid) ได้รับความนิยมสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดเลือนริ้วรอยและให้ความชุ่มชื่นต่อผิว โดยพบว่าผู้บริโภคชาวไทยกว่าร้อยละ 51 ให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้ผิวพรรณดีขึ้น และผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใส่อาหารเสริมและวิตามินในน้ำผลไม้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าในประเทศจีนเริ่มมีการนำกรดไฮยาลูรอนิก (hyaluronic acid) มาผลิตเป็นอาหารเสริมในรูปแบบเยลลีและเครื่องดื่ม ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
5. การมีฉลากที่ชัดเจนและความโปร่งใสที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ (Clean label and transparency) ผู้ผลิตสินค้าจะต้องให้ความสำคัญต่อฉลากที่ชัดเจนทั้งห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ และฉลากที่บ่งบอกลักษณะสินค้าที่สำคัญ เช่น วัตถุดิบทำจากพืช (plant-based ingredient) สินค้าออร์แกนิก (Organic) ปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO-free) ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ (Allergy free) หรือไม่ใส่สารกันบูด (no preservatives) เป็นต้น
ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ในปี 2563 มีสถิติการส่งออกอาหารเสริมและวิตามิน (พิกัดศุลกากร 2936) ปริมาณ 1,616.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 794.27 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและเมียนมา รวมสองประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกอาหารเสริมและวิตามินทั้งหมด ส่วนการนำเข้าอาหารเสริมและวิตามินปริมาณ 11,942.02 ตัน มูลค่า 5,504.93 ล้านบาท โดยนำเข้าจากจีนถึงร้อยละ 40 รองลงมา ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ร้อยละ 18.9 15.4 และ 15.3 ตามลำดับ