xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือ ปตท.ลุยธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มยกระดับโรงงานในนิคมฯ สู่อุตฯ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กนอ.” เผยความคืบหน้าความร่วมมือ ปตท.จัดตั้งหน่วยธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม หนุนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ปรับระบบการผลิตไปสู่เทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ นำร่อง 4 บริษัท ทดสอบระบบ ITP Platform พร้อมสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการใน 6 นิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายปรับปรุงระบบ คาดสรุปแนวทางร่วมทุนเร็วๆ นี้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่ กนอ.ได้ลงนามความร่วมมือกับ ปตท.และ บริษัท พีทีที เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด เพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (JV Company) เพื่อดำเนินการธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มร่วมกันว่า “กนอ. และ ปตท.อยู่ระหว่างร่วมศึกษาแนวทางการร่วมทุนในรูปแบบ Co-Investment โดยจะพิจารณาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ โดยล่าสุดได้ร่วมกันจัดทำโครงการยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตหรือ ITP Platform ซึ่งเป็นการให้บริการเชื่อมโยงลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกับ กนอ.เพื่อรองรับการบริการของ กนอ. ประกอบด้วย ระบบช่วยตัดสินใจเลือกนิคมอุตสาหกรรม ระบบอนุมัติ-อนุญาต (e-PP) และสิทธิประโยชน์จาก กนอ.เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 ซึ่งเบื้องต้นนำร่องร่วมกับผู้ประกอบการ 4 ราย (Pilot Project) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี

สำหรับบริษัทนำร่อง 4 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ 1) บริษัท ไทย ไดโซ แอโรโซล จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภค-บริโภค 2) บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ 3) บริษัท ไทยโตเคน เทอร์โม จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และ 4) บริษัท โอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ

“การนำร่องจะให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และให้คำปรึกษาด้านการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งทดสอบทดลองระบบกับ ITP Platform” นายวีริศกล่าว

นอกจากนี้ กนอ.และ ปตท.ยังได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการจำนวน 12 รายในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, ยานยนต์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ จากนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จ.ระยอง รวมทั้งส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการทุกนิคมอุตสาหกรรมที่สนใจยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อเข้าร่วมทดสอบการใช้งานระบบ ITP Platform ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น