กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป เตรียมหารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ “กนอ.” ดึงนิคมฯ 59 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีด หนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนต่อวัน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปร่วมกับหน่วยงานรัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค. 2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการให้วัคซีนแก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ
สำหรับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือ 1. กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2. ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกัน ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แบ่งผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2. โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3. ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน