ปัจจุบันการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อประกอบธุรกิจทำได้ไม่ยาก เพราะหน่วยงานภาครัฐ อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการปรับโฉมการให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้รูปแบบการให้บริการพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ พลิกจากเดิมที่มีหลายขั้นตอน ใช้ระยะเวลานานหลายวัน ล่าสุดเหลือเพียงแค่ 3 ขั้นตอน ใช้เวลา 2.5 วัน ผู้ประกอบการก็สามารถเปิดบริษัท ทำธุรกิจได้ทันที
การจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจจะต้องเริ่มต้นตรงไหน มีขั้นตอน วิธีการ อะไรบ้าง เราไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
อยากเปิดบริษัทใหม่ต้องเริ่มตรงไหน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่เคยเป็นนายทะเบียน เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจว่า อย่างแรก คนที่จะทำธุรกิจต้องมองเป้าหมายของตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำอะไร ใครเป็นลูกค้า ใครคือกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ แล้วมาคิดเรื่องตั้งบริษัท โดยต้องไปหาผู้ถือหุ้นให้ได้ 3 คนขึ้นไป จากนั้นก็คิดชื่อบริษัท จะใช้ชื่อว่าอะไร คิดได้แล้วก็ไปจองชื่อ ซึ่งวันนี้การจองชื่อบริษัทก็ง่ายมาก สามารถจองได้ผ่านทางออนไลน์ และยังได้นำระบบ Artificial Intelligence หรือ AI มาให้บริการ ก็ยิ่งทำให้การจองชื่อทำได้ง่ายขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ล่าสุด น.ส.ปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ขับเคลื่อนงานจดทะเบียน ยืนยันว่า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมาได้เปิดใช้งานระบบการจองชื่อนิติบุคคล โดยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบแล้ว ทำให้ทราบผลการอนุมัติการจองชื่อได้ทันทีว่าชื่อที่จองเป็นชื่อซ้ำหรือไม่ซ้ำ และสามารถนำไปใช้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นชื่อนิติบุคคลได้หรือไม่ และถ้าจดไม่ได้ ระบบก็จะแสดงเหตุผลให้ และสามารถเปลี่ยนหรือเปลี่ยนชื่อที่ขอจองใหม่ได้ทันที ทำให้ช่วยประหยัดเวลา และช่วยให้การจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้น เพราะเดิมต้องใช้เวลาในการจองชื่อและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ประมาณครึ่งวันถึงจะทราบผล
สำหรับระบบจองชื่อนิติบุคคลโดย AI มีข้อดี กล่าวคือ ได้มีการนำรายชื่อนิติบุคคลที่มีอยู่ในระบบ 1.6 ล้านชื่อ ซึ่งมีการจดทะเบียนเอาไว้เดิม และชื่อที่เป็นชื่อต้องห้ามในการนำมาจดตั้งบริษัท เช่น ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ เอาไปใส่ไว้ในระบบ เมื่อมีผู้มายื่นขอจองชื่อระบบก็จะทำการตรวจสอบทันทีว่าชื่อซ้ำหรือไม่ซ้ำ และตรงกับชื่อที่ต้องห้ามนำมาใช้จดทะเบียนหรือไม่ ถ้าไม่ก็อนุมัติให้นำไปใช้ได้ โดยปกติในแต่ละปีจะมีคนเข้ามาจองชื่อประมาณปีละ 3 แสนราย และนำไปใช้จดทะเบียนจริง 7-8 หมื่นราย
จองชื่อได้แล้วต้องทำอย่างไรต่อ
นายพูนพงษ์กล่าวต่อว่า การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล หรือเรียกง่ายๆ ว่าตั้งบริษัทใหม่ ปัจจุบันทำได้ 2 แบบ โดยแบบแรก เมื่อจองชื่อได้แล้วก็ Walk in เข้ามาเลย เข้าไปยังศูนย์บริการของกรมฯ ที่กรุงเทพฯ มี 7 แห่ง ที่สนามบินน้ำ 1 แห่ง และสำนักงานสาขาทั่วกรุงเทพฯ 6 แห่ง ในต่างจังหวัดมี 80 แห่ง มีทุกจังหวัด 76 แห่ง และบวกอีก 4 แห่ง ที่พัทยา หัวหิน เกาะสมุย และแม่สอด รวมแล้วมีสถานที่ให้บริการที่สามารถเข้าไปจดตั้งบริษัทได้ 87 แห่งทั้งประเทศ (อ่านล้อมกรอบการให้บริการช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบ)
แบบที่ 2 เมื่อจองชื่อได้แล้วก็ยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านระบบ e-Registration เมื่อยื่นเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผ่านออนไลน์ ถ้าจดได้ก็จะได้เลขทะเบียน 13 หลัก จะสามารถใช้เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขทะเบียนนายจ้างได้เลย เป็นเลขเดียวกัน เรียกว่าจดทะเบียนทรีอิน วัน จด 1 ได้ถึง 3
ตั้งบริษัทได้แล้วมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง
สำหรับสิ่งที่จะต้องทำหลังจากตั้งบริษัทได้แล้ว นายพูนพงษ์บอกว่า สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเดินหน้าทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีเพื่อจัดทำงบการเงิน และมีหน้าที่ต้องส่งงบการเงินตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นสิ่งที่บริษัทหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจเฉพาะ เช่น นำเที่ยว ก็ต้องไปขออนุญาตต่อกับกรมการท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจที่กฎหมายระบุว่าต้องขออนุญาต ก็ต้องไปขออนุญาตให้ถูกต้อง
กรมพัฒน์ฯ ปรับโฉมหน้าบริการรองรับ
มาถึงตรงนี้ก็คงพอจะเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องทำหากอยากจะเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจกันพอสมควรแล้ว ทีนี้ มาดูกันต่อว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานผู้ให้บริการ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนางานให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอย่างไรบ้าง
เริ่มแรกเดิมที ในการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ในอดีตใช้เวลาเป็นเดือน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาจนลดมาเหลือหลายสัปดาห์ แต่คนก็ยังว่านาน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ไม่หยุดนิ่ง ได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง จนทำได้ดีสุดไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ สามารถลดขั้นตอนลงมาเหลือ 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 6 วัน ได้แก่ 1. การจองชื่อบริษัท 2 วัน 2. การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 1 วัน 4. การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 วัน และ 5. การขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้าง 1 วัน
แต่ล่าสุดช่วงปี 2563-64 ทำได้ดีไปกว่านั้น สามารถปรับลดขั้นตอนต่างๆ ลงมาเหลือแค่ 3 ขั้นตอน ใช้เวลาเพียง 2.5 วัน คือ 1. การจองชื่อบริษัท เหลือ 0.5 วัน 2. การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน และ 3. ได้รวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การขึ้นทะเบียนประกันสังคม และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้สามารถดำเนินการได้ภายในขั้นตอนเดียว ใช้เวลา 1 วัน
“ตอนนี้กรมฯ ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยการจองชื่อนิติบุคคลได้นำ AI มาให้บริการ ซึ่งส่งผลให้การให้บริการดังกล่าวมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการสามารถทราบผลการจองชื่อได้ทันที จากเดิมใช้เวลา 0.5 วัน โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่อีก ก็ยิ่งทำให้การจดตั้งบริษัทใหม่ทำได้เร็วขึ้น และยังได้พัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration ให้ใช้งานง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย” นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงวิวัฒนาการของความสำเร็จที่เกิดขึ้น
การันตีระบบใหม่ไฉไลกว่าเดิม
นายทศพลกล่าวถึงการพัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration ว่า ปัจจุบันการใช้งานง่ายและสะดวกมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ระบบมากขึ้น สอดรับกับนโยบายสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถยืนยันตัวตนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ลดการเดินทางมายังหน่วยให้บริการ อีกทั้งยังปรับปรุงแบบฟอร์มการกรอกให้ง่ายขึ้น ลดระยะเวลาในการดำเนินการ รวมไปถึงเปิดช่องทางให้ผู้แทนสามารถจัดทำและยื่นคำขอจดทะเบียนแทนผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลผ่านระบบ e-Registration ได้
โดยผู้แทนทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ ผู้ทำบัญชี หัวหน้าสำนักงานบัญชีคุณภาพ ผู้รับรองลายมือชื่อจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ผู้บังคับหลักประกัน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้ที่เป็นสามัญสมาชิกและสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ทั้งนี้ ในการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาใช้งานระบบ e-Registration จะต้องทำการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อรับ Username และ Password ในการเข้าใช้ระบบและลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการถ่ายภาพบัตรประชาชน ภาพใบหน้าตนเอง และอัดวิดีโอ โดยพูดคำที่ระบบกำหนด เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถเข้ามาใช้งานระบบได้เลย
จดแล้วนำหนังสือรับรองใช้งานได้ทันที
สำหรับการจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านทางออนไลน์แบบครบวงจร รองรับทุกกระบวนการของการจดทะเบียน มีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียน ลดการใช้เอกสาร และระยะเวลาการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ สามารถจดทะเบียนเริ่มต้นธุรกิจได้ทุกที่ ทุกเวลา
ไม่เพียงแค่นั้น หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ยังจะได้รับหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และรับใบเสร็จรับเงิน โดยสามารถพิมพ์เอกสารออกได้ทันทีหลังการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทันที ทำให้สามารถนำไปใช้ดำเนินการ หรือติดต่อกับหน่วยงานอื่นได้รวดเร็วขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกิจได้ไว้ขึ้น
ลดค่าธรรมเนียมเพื่อกระตุ้นการใช้บริการ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ขยายระยะเวลาและเพิ่มส่วนลดอัตราค่าธรรมเนียมแก่ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration จากเดิมลดให้ 30% เป็นลดให้ 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2566 โดยมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และยังสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใช้ช่องทางออนไลน์ในการให้บริการประชาชน เพื่อเว้นระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นั่นหมายความว่า ถ้าประเมินตรงจุดล่าสุดที่มีการปรับลดขั้นตอนการจดตั้งบริษัทใหม่เหลือ 3 ขั้นตอน ใช้เวลา 2.5 วัน แต่ถ้าคนอยากเร่งทำธุรกิจจริงๆ และทำทุกอย่างแบบเร็วๆ โดยใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เช้าจองชื่อ สายหน่อยเอาเงินเข้าธนาคาร จากนั้นก็จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เผลอๆ ใช้เวลาแค่วันเดียวก็สามารถตั้งบริษัทใหม่ แล้วลุยทำธุรกิจได้ทันที
สรุปตัดจบ วันนี้อยากตั้งบริษัททำธุรกิจใหม่ ทำได้ง่าย แค่ปลายนิ้ว และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ