“ศักดิ์สยาม”ตรวจการบ้านรถไฟสีแดง ก.ค. พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ มิ.ย. เปิดประมูลให้สิทธิ์เอกชนใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อ 15-20 ปี กว่า 5 หมื่นตรม. ส่วน12 สถานีรายทาง แยกเป็นสัญญาเช่าระยะ 3 ปี ขณะที่ วาง”รังสิต/อโศก สถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ส่วนสินค้า ใช้”เชียงรากน้อย และสถานีวัดสุวรรณ”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 2/2564 ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. และช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. รวมถึงสถานีกลางบางซื่อเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อม ด้านการเดินรถและการเชื่อมต่อระบบขนส่งต่าง ๆ ในการเข้าถึงสถานี ด้านสถานี ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร ด้านการสื่อสารสาธารณะ ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงการบริหารพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบในเชิงพาณิชย์ เพื่อเร่งรัดดำเนินการ
โดยขณะนี้ ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านสถานี กลางบางซื่อนั้น ได้กำหนดพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีจำนวน 52,375 ตารางเมตร ได้เสนอแนวทางให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนได้มีสิทธิใช้ประโยชน์พื้นที่แยกจากโครงการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนให้บริการเดินรถไฟสายสีแดง (PPP) ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขสัญญาเดียวครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 52,375 ตารางเมตร โดยรวมถึงการให้บริการในส่วนของศูนย์อาหาร และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในการเดินทาง อายุสัญญาเช่า 15 – 20 ปี
ส่วนพื้นที่ส่วนของลานจอดรถยนต์เห็นควรให้ รฟท. ดำเนินการหารายได้ในการจัดเก็บค่าจอดรถยนต์โดย รฟท. หรือโดยการจ้างเหมาบริการ พร้อมทั้งให้ รฟท. พิจารณาให้บริการรถ Limousine แก่ผู้โดยสารในลักษณะเดียวกับสนามบินและบริการรถ Shuttle bus
สำหรับงานด้านรักษาความปลอดภัยและการจัดการจราจร งานด้านทำความสะอาดสถานที่ และงานอาคารสถานที่ เห็นควรให้ รฟท. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ส่วนสถานีรถไฟในโครงการอีก 12 สถานี จากการสำรวจโดยละเอียดพบว่า มีพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 4,626 ตารางเมตร และพื้นที่โฆษณา จำนวน 2,407 ตารางเมตร ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ด้านสถานีได้เสนอแนวทางการจัดประโยชน์ กำหนดเป็นสัญญาเช่าระยะเวลา 3 ปี คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 และลงนามสัญญาได้ในเดือนสิงหาคม 2564 และเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2564
ตัดรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน/วัน
ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ ด้านการเดินรถฯ เสนอให้คงขบวนรถเข้า สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 22 ขบวน โดยจัดให้มีการเดินรถในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบการจราจของกรุงเทพชั้นใน พร้อมทั้ง ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณาปรับปรุงเส้นทางรถขสมก. เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในกับรูปแบบการขนส่งรูปแบบอื่นในทุกสถานี
สีแดงใช้ระบบตั๋วร่วม EMV ได้ปลายปี 64
สำหรับค่าโดยสารนั้น คณะอนุกรรมการ ด้านการกำหนดราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร ได้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารพร้อมส่งเสริมการเดินทางในรูปแบบของบัตรโดยสาร 30 วัน (ตั๋วเดือน) พร้อมจัดโปรโมชั่นส่วนลดการเดินทางสำหรับเด็ก นักเรียน/นักศึกษา (Student Card) ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้พิการ เพื่อรองรับนโยบายการเข้าถึงและใช้ประโยชน์บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณาค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินงาน พร้อมปริมาณผู้โดยสารในระบบรายสถานี ความถี่การเดินรถ เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามต้นทุน ค่าใช้จ่ายผันแปร ส่วนความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมของรถไฟสายสีแดง ได้หารือร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เตรียมความพร้อมเพื่อให้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารรองรับตามมาตรฐานเทคโนโลยีบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) โดยให้จัดทำข้อมูลกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน งบประมาณที่คาดว่าจะใช้รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการได้ภายในปลายปี 2564
วาง "รังสิต/อโศก" สถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า (Gateway/Hub) ได้กำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า หลังจากมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้านกายภาพและประเมินความเหมาะสมของสถานี โดย จุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน มี 2 จุด. คือ ด้านทิศเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สถานีรังสิต โดย จะต้องมีการปรับปรุงถนนด้านฝั่งตะวันตก (ปทุมธานี) และงานก่อสร้างสะพานกลับรถ และทางเชื่อมจากสะพานข้ามทางรถไฟ และพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อ ได้แก่ ปรับปรุงจุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 346 ทั้งด้านตะวันออก (รังสิต) และด้านตะวันตก (ปทุมธานี)
ส่วนด้านทิศตะวันออก ที่จุดจอดรถอโศก ซึ่งในปัจจุบันรถไฟชานเมืองขาเข้าและขาออกสถานีกรุงเทพ หยุดจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารรถหลังจากผ่านเครื่องกั้นถนน พบว่ารูปแบบดังกล่าวทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนจะเสียเวลาในการรอรถไฟข้ามผ่านเป็นเวลาโดยเฉลี่ยกว่า 2-3 นาที จึงได้เสนอปรับจุดจอดให้อยู่ตำแหน่งเดียวกันทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการกั้นถนนลงได้กว่า 1 นาทีและจะต้องมีการปรับพื้นที่ชานชาลาด้านตะวันตกของจุดจอดรถอโศก และพัฒนาป้ายหยุดรับส่งผู้โดยสารสำหรับรถ ขสมก. เพื่อให้สามารถรับส่งผู้โดยสารจากขบวนรถไฟได้ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก
สำหรับจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า มี2 จุด เช่นกัน คือ ด้านทิศเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สถานีเชียงรากน้อย ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าจุดที่กำหนดไว้เดิมที่สถานีเชียงราก เนื่องจากอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และมีโครงการพัฒนาพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และสถานีสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ทางหลวงสายหลักได้โดยจะมีการปรับปรุงชานชาลา ลานกองเก็บสินค้า และอาคารสำนักงาน และโครงข่ายเชื่อมต่อในการเข้าสู่สถานี
ส่วนด้านทิศใต้/ตะวันตก จากเดิมที่กำหนดไว้ที่สถานีวัดงิ้วราย จะเปลี่ยนเป็น สถานีวัดสุวรรณ เนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าพุทธมณฑล และสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ทางหลวงสายหลักได้สะดวกกว่า รวมถึงอยู่ใกล้แนวเส้นทาง ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบ โดยจะมี การปรับปรุงชานชาลา ลานกองเก็บสินค้า และอาคารสำนักงาน และโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานี
“ต้องเร่งปรับปรุงระบบเชื่อมต่อ เพื่อให้การเดินทางเชื่อมเข้าสถานีรถไฟสายสีแดงมีความสะดวก และรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วยแก้ปัญหาจราจรและมลภาวะในกทม. และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนได้อย่างยั่งยืน อีกด้วย“นายศักดิ์สยามกล่าว