เจ้าสัว “ธนินท์” ทุ่มงบ 200 ล้านบาทเสริมกำลัง รพ.สนามสู้โควิด-19 ระลอก 3 ครอบคลุมอาหาร เครื่องมือ อุปกรณ์ เริ่มจาก รพ.สนามจุฬาฯ พร้อมต่อยอด รพ.อื่นๆ พร้อมเสนอรัฐให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนเองเพื่อฉีดให้ พนง.ช่วยลดภาระรัฐบาล
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 เม.ย.) เป็นตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดอีกวันหนึ่งอยู่ที่ 1,767 คน ทำให้ผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลสูงถึง 13,568 ราย ซึ่งโรงพยาบาลก็เริ่มประสบปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลสนาม 571 ราย ซึ่งต่อไปจะมีตัวเลขสูงมากขึ้น สำหรับคนทั่วไปสามารถช่วยส่วนรวมได้โดยการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ลดภาระทางการแพทย์
ในส่วนของภาคเอกชน ก็เป็นหน้าที่ต้องเข้ามาช่วยอีกแรง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาทสนับสนุนโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลต่างๆ โดยเน้นไปที่สิ่งที่เครือทำได้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และเสริมอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาด บริษัททุกบริษัทในเครือจะมาช่วยผนึกกำลังเพื่อช่วยเสริมบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละเป็นอย่างมาก โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เป็นต้น
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินธุรกิจอยู่บนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลา 100 ปี จึงตระหนักดีว่านี่คืออีกสถานการณ์หนึ่งที่สำคัญซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์จะต้องเข้ามาช่วยเหลือตามสรรพกำลังที่มีอยู่ ในการนี้เห็นว่าการรับมือด้านสาธารณสุขมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมกันนี้จะจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อให้กับโรงพยาบาลสนามของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ รวมถึง Hospitel อีก 4 แห่งในความรับผิดชอบของ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ และจะให้กลุ่มทรูจัดไวไฟบริการฟรีในโรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์ที่จะเปิดใหม่นี้ด้วย และหากรัฐบาลเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้พนักงานก็จะถือว่าเป็นการลดภาระภาครัฐ โดยเอกชนออกค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดหาวัคซีนสำหรับพนักงาน ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องคนไทยจะก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย”
อย่างไรก็ตาม เครือซีพีเชื่อมั่นว่าคนไทยและประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตโควิด-19 นี้ไปได้อย่างแน่นอน ขอเพียงทุกคนและทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันตามกำลังความสามารถ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในเร็ววัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยกล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์รุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง คนไข้มีจำนวนมากขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมการโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับบุคลากร และนิสิตที่มีการติดเชื้อรวมถึงการเปิดให้ผู้ป่วยต่อไปด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักมีพื้นที่เพียงพอในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ต้องขอบคุณท่านประธานธนินท์ และบริษัทในเครือซีพี ที่เป็นองค์กรเอกชนที่มีความตั้งใจดีในการเข้ามาสนับสนุนดำเนินโครงการทั้งเรื่องโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ให้ประสบความสำเร็จและผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีแนวโน้มที่โรงพยาบาลจะรองรับได้ไม่ครบถ้วน ทำให้โรงพยาบาลได้ประชุมเพื่อร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยจับมือกันเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มให้บริการได้ในสัปดาห์หน้า