xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” ทำผู้บริโภคเปลี่ยน เผย 6 เทรนด์ใหม่ตามให้ทัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคแบบทันที “เอ็นไวโร ไทยแลนด์” เผย 6 เทรนด์ พฤติกรรมผู้บริโภค ตอกย้ำนักการตลาดต้องเปลี่ยนวิธีคิด เหตุคู่แข่งไม่ใช่กลุ่มเดิม แต่เป็นสายเลือดใหม่

นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นเพราะโควิดที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคแบบทันที นักการตลาดจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะคู่แข่งเปลี่ยนไปเป็นกลุ่ม “เลือดใหม่” ที่มีกระจายอยู่เต็มไปหมด สนามรบก็เปลี่ยนไป และที่สำคัญ สินค้าแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป
 
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ช่องทางการซื้อที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่รูปแบบการบริโภคสินค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน สินค้าที่อยู่บน shelf ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทางเอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จึงได้ทำการสำรวจเทรนด์ผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการนำวัคซีนเข้ามาจะมีพฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างนั้น ซึ่งพบว่ามีถึง 6 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค หลังมีวัคซีนโควิด


ประกอบด้วย 1. ชอบพรีเซ็นต์ตัวเองมากกว่าพรีเซ็นเตอร์ โดยพบว่ากลุ่มผู้หญิงและ LGBT มีแนวโน้มเชื่อตัวเองมากกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มหันมาผลิตคอนเทนต์เองมากที่สุด ซึ่งทางเอ็นไวโร ไทยแลนด์ พบว่าผู้บริโภค 12% ยังเชื่อในพรีเซ็นเตอร์ และ 62% เชื่อรีวิว แต่ผู้บริโภค 26% เชื่อตัวเองมากกว่า จึงหันมาผลิตคอนเทนต์ และเป็น influencer ซะเอง เพราะสมัยนี้โลกพลิกกลับ ไม่ต้องหน้าตาดีอย่างดาราก็ดังได้ ขอให้มีคอนเทนต์ที่โดน

2. ชอบใช้เวลาในบ้านมากกว่านอกบ้าน ซึ่งพบว่ามากกว่า 50% หันมาทำอะไรเองมากขึ้น และ 41% ของผู้บริโภคใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อน้อยลง อาศัยงานอดิเรกคลายเครียดจากสภาวะ burnout มากกว่าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะ DIY เป็นเรื่องของความเพลิดเพลิน

3. ชอบใช้สติมากกว่าสตางค์ คนไทยใช้เงินอย่างมีสติมากขึ้นถึง 57% เพราะโควิดทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป เน้นจ้างกลุ่มที่มีสกิลสูงๆ ผู้บริโภคจึงหันมาพัฒนาสกีล หันมาเรียนทำอาชีพเสริม

4. ชอบย้อมใจ ด้วยเหตุที่ผู้บริโภคมีสภาวะเครียด ข้อมูลจากเอ็นไวโร ไทยแลนด์พบว่า คนไทย 51% จะปล่อยวางมากขึ้น และ 41%ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อน้อยลง หันมาเสพสินค้าช่วยย้อมใจ กินใช้อะไรที่ทำให้รู้สึกดี ดังนั้น สินค้าเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป นักการตลาดต้องหาสินค้าใหม่เพื่อมาเจาะตลาด เช่น สินค้าจากสารสกัดกัญชาเป็นสินค้าอนาคตที่มาแรง เพราะกัญชาเป็นส่วนผสมสินค้าอุปโภค บริโภค ที่หลากหลายและจะทำให้ผู้บริโภคมีภาวะความเครียดที่น้อยลง มีความสุขมากขึ้น รวมถึงกลุ่มสินค้าที่พึ่งทางใจ กับการตลาดสายมู หรือศรัทธามาร์เกตติ้งก็มาแรง


5. ชอบกระจายไม่กระจุก ผู้บริโภคหันไปอยู่ต่างจังหวัดและมีไลฟ์สไตล์มากขึ้น นักการตลาดจึงหันมาทำ geofencing มากกว่าลงทุนในโซเชียล เป็นการทำตลาดที่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคนมากขึ้น ซึ่งพบว่าส่งผลต่อยอดขายสูงกว่าการทำคอมเมอร์เชียลแอดถึง 20 เท่า

6. ชอบอยู่บนโลก 2 ใบ แม้โลกจะเปลี่ยนไป แต่สัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องอยู่เป็นกลุ่มยังมีอยู่ การปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น เช่น คุย คอมเมนต์กันบนหน้าจอ แม้จะไม่รู้จักกันบนโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในโลกของเกมของเด็กรุ่นใหม่ ที่พบว่ากว่า 60% หมดเวลาไปกับการเล่นเกม ซึ่งปี 2563 พบว่าตลาดเกมไทยมีมูลค่า 27,000 ล้านบาท โต 16% และมีผู้เล่น 28 ล้านคน คิดเป็น 41% ของจำนวนประชากร หลายๆ แบรนด์จึงได้เปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้เกม หรือ virtual celebrity เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

นางสาวสรินพรกล่าวว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในครั้งนี้ส่งผลให้นักการตลาดจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในหลายๆ เรื่อง เพราะต่อจากนี้ไปแบรนด์จะมีความสำคัญน้อยลง ยอดขายก็จะน้อยลงตาม หากไม่เปลี่ยนวิธีการตลาดและการสื่อสารกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอมเมอร์เชียลคอนเทนต์ที่จะสื่อสารบนโลกออน์ไลน์ เพราะการใช้คอมเมอร์เชียลแบบเดิมจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลดน้อยลงเรื่อยๆ อีกทั้งพรีเซ็นเตอร์ก็ไม่ใช่เทรนด์อีกต่อไป เช่นเดียวกับรูปแบบการขายก็ต้องเปลี่ยนแปลง ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมมากขึ้น การสื่อสารกับผู้บริโภคต้องเน้น 2 senses หลัก คือ รูป และเสียง เพราะผู้บริโภคใช้เวลาในออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น