xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพร้อมบังคับใช้ความตกลง ATISA เพิ่มโอกาสลงทุนบริการในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยพร้อมบังคับใช้ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) ฉบับใหม่ตั้งแต่ 5 เม.ย. 64 หลังเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรกที่ให้สัตยาบัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที เผยมีโอกาสในสาขาที่มีศักยภาพ ทั้งสุขภาพ การท่องเที่ยว ก่อสร้าง จัดประชุม และจัดนิทรรศการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA) ครบทั้ง 10 ประเทศเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ว่า ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรกร่วมกับสิงคโปร์ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลง ATISA ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ ASEAN Framework Agreement on Services - AFAS) ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538 โดยจะมีผลใช้บังคับตามกำหนดของความตกลง คือวันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้ทันที

ทั้งนี้ การมีผลใช้บังคับของความตกลง ATISA เป็นความคืบหน้าที่สำคัญของอาเซียนภายใต้เป้าหมายการยกระดับความร่วมมือและการรวมตัวในภาคบริการที่กว้างขึ้นและลึกขึ้นตามแผนงานประชาเศรษฐกิจอาเซียนปี 2568 (AEC Blueprint 2025) โดยความตกลง ATISA เป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้ จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน

“ภายใต้ความตกลง ATISA ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น” นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า ความตกลง ATISA เป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการของอาเซียนให้มีความทันสมัย มีการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ในการค้าบริการของอาเซียน เช่น การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้ให้บริการอาเซียน หากประเทศสมาชิกมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมในความตกลงอื่นๆ ในอนาคต (Automatic MFN) กฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการ การกำหนดให้มีการเผยแพร่กฎระเบียบต่างๆ ต่อสาธารณะ และการเปลี่ยนรูปแบบข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการให้เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี (Negative List)

ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเป็นแบบการจัดทำรายการข้อสงวนรายการมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี โดยยังคงรักษาระดับการเปิดตลาดการค้าบริการให้สอดคล้องกับระดับปัจจุบัน หรือข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของอาเซียนชุดที่ 10 ไปพลางก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น