สนข.ศึกษาระบบ Feeder วางโครงข่ายเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินแบบไร้รอยต่อ นำร่องจัดฟีดเดอร์เชื่อม 13 สถานีรถไฟสายสีแดง รองรับการเปิดใช้เดินรถในเดือน พ.ย. 2564
วันที่ 24 มี.ค. นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ภายใต้การศึกษาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการแล้วถึง 170 กม. และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 129 กม. และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะทาง 553 กม. นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาท่าอากาศยานสนามบินดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องวางแผนรองรับเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าและสนามบินได้อย่างสะดวก
กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดให้ปริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ปลายปี 2564 นี้
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาของโครงการจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ สนข.ทำการสำรวจและออกแบบระบบเชื่อมต่อการเดินทาง หรือ Feeder ในพื้นที่ระยะรัศมี 3 กม.รอบสถานี จำนวนทั้งสิ้น 13 สถานี ได้แก่ (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) สถานีบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก สถานีรังสิต (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบสถานีดังกล่าวมีระบบโดยสารสาธารณะที่จะเดินทางสู่สถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
นอกจากนั้น ที่ปรึกษาของโครงการจะทำการสำรวจและออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบสถานี เช่น ทางเดินเท้า Skywalk หลังคาคลุมกันแดดกันฝน จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ จุดจอดและจรสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่สถานีของประชาชน
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการมี 6 ข้อ ได้แก่ 1. รวบรวมและศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานีรถไฟฟ้าตาม M-MAP และ 2 สนามบิน 2. ประเมินโครงข่ายเชื่อมต่อและความยากง่ายในการเข้าถึงแต่ละสถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน 3. ประเมินวิเคราะห์และสรุปสภาพปัญหาอุปสรรคการเชื่อมต่อการเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางหลายรูปแบบ(Intermodal Transfer Facility : ITF) เพื่อเข้าถึงแต่ละสถานีรถไฟฟ้าและ 2 สนามบิน
4. เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาและปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทาง 5. เสนอรูปแบบทางเลือก วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางออกแบบ การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางเข้าถึง พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของแต่ละสถานีรถไฟฟ้า และ 6. จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป
สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง หรือ Feeder จะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาให้บริการ เช่น รถกะป๊อไฟฟ้า รถสองแถวไฟฟ้า รถมินิบัสไฟฟ้า เพื่อไม่ไปสร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบแอปพลิเคชันบนมือถือมาให้บริการด้านข้อมูลการให้บริการของรถขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีทางลาด บล็อกนำทาง ป้ายบอกข้อมูลด้วยเสียง ลิฟต์โดยสาร เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกคนเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียม ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งจะบรรเทาปัญหาการจราจรในเมือง ลดฝุ่น PM 2.5 และยังเป็นการรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต