xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ดัน “BCG Model” ตั้งคณะกรรมการล็อก 4 เป้าหมายขับเคลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาล ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สู่ภาคอุตสาหกรรม ล็อก 4 เป้าหมาย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้คอนเซ็ปต์ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด!

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน กับลดของเสียโดยจัดการทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ 1. สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2. สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม 3. สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4. ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยมีการคาดการณ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 4 สาขา ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่กับใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้ทุกภูมิภาคของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น