xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ถก 8 กลุ่มสินค้า หาข้อมูลใช้เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหารือเอกชน 8 กลุ่มสินค้า รวบรวมข้อมูลใช้เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอที่จะอัปเกรด และจัดทำใหม่ หวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการของไทยที่จะเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดสินค้า และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เชิญผู้ประกอบการ และภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มาร่วมระดมความเห็นเรื่อง “การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” โดยแบ่งกลุ่มการหารือออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ตามประเภทของสินค้าและสาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก 3. เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 4. ยานยนต์และชิ้นส่วน 5. ไม้ กระดาษ การก่อสร้าง ซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ 6. แร่เหล็กและอะลูมิเนียม 7. เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ และ 8. ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางการเจรจาเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอที่จะมีการปรับปรุงทบทวน หรือเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

“ถ้ากฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความง่ายจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น และใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอขยายตลาดไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น กรมฯ จึงต้องมาหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีหลายรูปแบบ เช่น กำหนดเงื่อนไขตามมูลค่าการผลิต พิจารณาจากมูลค่าการผลิตจริง และนำวัตถุดิบนอกเอฟทีเอมาสะสมได้ เป็นต้น การเจรจาเรื่องนี้จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของไทย เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด”

นางอรมนกล่าวว่า ในช่วงการหารือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เห็นตรงกันว่า ความรู้ในเรื่องกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากช่วยให้ทราบถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นว่าควรเลือกใช้วัตถุดิบหรือการผลิตอย่างไรที่จะสามารถนำมูลค่าของสินค้ามาสะสมจึงจะผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอในการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบประเภทสินแร่เหล็ก ฝ้ายธรรมชาติ และทองคำ เป็นต้น มาใช้ในกระบวนการผลิตในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่า การกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมจะช่วยให้มีโอกาสส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น