xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์กรรมการ กขค.ไม่หนักใจข้อกังวลมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กรณีอนุมัติดีลค้าปลีกแบบมีเงื่อนไข มูลนิธิต้องมองให้ครบทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ โควิด-19 เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว การรักษาการจ้างงาน การรักษาอุตสาหกรรม เพราะทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกที่กลุ่มทุนต่างประเทศถอนทัพ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในอังกฤษ อย่าง เทสโก้ ที่ถอนตัวจากเกาหลีใต้หลายปีก่อน ทำให้บริษัท เทสโก้ เริ่มทบทวนธุรกิจของเทสโก้ในภูมิภาคเอเชียเมื่อปีก่อน จนกระทั่งขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และมาเลเซีย ให้กลุ่มซีพี ด้วยมูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท ทำให้ต้องเข้าใจก่อนว่าเทสโก้มีความจำเป็นต้องขาย และผู้มีกำลังซื้อก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่จ่าย 3 แสนล้านบาทได้ หากไม่พิจารณาผลกระทบแล้วเกิดการเลิกจ้าง เกิดการปิดกิจการบางส่วนจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ต้องนำมาพิจารณา เพราะผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 รายล้วนมีขนาดใหญ่

กรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. อนุมัติให้ดำเนินการซื้อขายได้ แต่ก็ไม่ได้มองข้ามทุกข้อกังวล โดยได้อนุมัติแบบมีเงื่อนไข และเปิดโอกาส 90 วัน หากมีผู้ร้องเรียน แต่ก็ไม่มีผู้มาร้องเรียน แม้กระทั่งกลุ่มซีพีก็ รอเพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนผ่านสมบูรณ์ โดยไม่เร่งรีบจ่ายเงินให้เทสโก้ จนกว่าจะแน่ใจว่า กขค.อนุมัติโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงชำระเงินให้แก่เทสโก้กว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ชำระไปแล้ว โดยระดมทุนจากสถาบันทางการเงินทั่วโลก ดังนั้น การสั่นคลอนความเชื่อมั่นของดีลนี้อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรที่ควรจะเป็นที่น่าเชื่อถือของนักลงทุน เพราะหากพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบ ถูกขั้นตอน และกลับมีการสั่นคลอนการพิจารณา จะส่งผลเสียหายหลายแสนล้านบาท และเป็นผลกระทบที่รุนแรง

ดีลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีด้านความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไทย และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก หากมีปัญหากับการพิจารณาของ กขค.อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของไทยในอนาคต องค์กรที่ทำหน้าที่อนุมัติ เชื่อถือได้หรือไม่ เมื่อดีลธุรกิจกว่า 3.3 แสนล้านบาท ถูกนำมาใช้เป็นเกมต่อรอง โดยกลุ่มที่อ้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ขู่ฟ้อง กขค. ทั้งที่ผลการพิจารณาของ กขค.ออกมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2563 เวลาผ่านไปเกินกว่า 90 วัน แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน จนกลุ่มซีพีชำระเงินให้กับกลุ่มเทสโก้จากอังกฤษ 3.3 แสนล้านบาท ผ่านไป 4 เดือน กลับมีเสียงดังออกมาจากบางกลุ่มว่าจะมีการยื่นฟ้อง กขค. เรียกว่าเป็นวิชาทำลายความน่าเชื่อถือองค์กรภาครัฐ พร้อมสะกัดกลุ่มซีพีไปในตัว ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดแค่ซีพีกับสถาบันการเงินเท่านั้น แต่คู่ค้า ร้านค้าในโลตัส ล้วนต้องตกเป็นตัวประกัน หากศาลรับคำร้อง ความเสียหายจะขยายเป็นวงกว้าง ต่อไปคงไม่มีใครกล้าเชื่อถือองค์กรภาครัฐที่พร้อมจะกลับกลอกได้ทุกเมื่อแม้จะเดินตามกติกาทุกขั้นตอนก็ตาม

- ทุกคนมีสิทธิ แต่ทุกคนต้องเคารพสิทธิ

เมื่อ กขค.มีมติไปแล้ว และกลุ่มซีพีก็ชำระเงินให้เทสโก้แล้ว ถ้ามติ กขค.ขาดความมั่นคง ความเสียหายจะขยายวงกว้าง และกระทบต่อความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง

มติ กขค.ทำให้เกิดสิทธิทางกฎหมาย แต่หากอยากเรียกร้องสิทธิ สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ เราเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วหรือยัง และข้อเรียกร้องของเราไปกระทบสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิ และความเสียหายของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องจากองค์กรภาครัฐด้วย

เอกชนที่กล้ามาลงทุนในประเทศไทย ย่อมเชื่อว่า กขค.เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ใช้ดุลยพินิจโดยแท้ แต่หากใครไม่พอใจผลการตัดสิน แล้วให้ศาลปกครองมาพิจารณาในเรื่องการตลาดค้าปลีก ต่อไปคงไม่ต้องมีคณะกรรมการใดๆ แต่ให้ศาลปกครองพิจารณาอนุมัติซื้อขายไปเลย ก็คงจะวุ่นวายไม่น้อย ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการจึงมีความสำคัญมาก

- ตลาดที่ กขค.พิจารณา คือ ตลาดอะไรกันแน่ สิ่งที่ กขค.เรียกว่า “ตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” ประกอบด้วยผู้เล่นรายใดบ้าง?

ยุคนี้ตลาดเปิดกว้างด้วยเทคโนโลยี ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ และเลือกของที่ดีที่สุดในราคาคุ้มค่าที่สุดเสมอ ทำให้การมีอำนาจเหนือตลาดเป็นไปได้ยากมาก

ตลาดค้าปลีกในยุคที่ไม่มีพรมแดนเช่นปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคมีทางเลือกอีกมากมาย เริ่มจากกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง “โชวห่วย” ที่มีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ของ Nielsen Thailand ยังระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขผู้ประกอบการเปิดร้านใหม่มากกว่าปิดร้าน จำนวนร้านโชวห่วยจึงเพิ่มมากขึ้น

ตลาดค้าปลีก ที่ขึ้นทะเบียนจำนวนกว่า 4 พันแห่ง แต่ละแห่งมีร้านค้าภายในหลักร้อยและหลักพันร้านค้า โดยตลาดในกรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดประชานิเวศน์ 1, ตลาดบางกะปิ, ตลาดหนองจอก, ตลาดราษฎร์บูรณะ, ตลาดรัชดาภิเษก, ตลาดอรุณอมรินทร์, ตลาดสิงหา, ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2), ตลาดเทวราช, ตลาดนัดจตุจักร, ตลาดนัดจตุจักร (มีนบุรี) และตลาดบางแคภิรมย์ มีแผงค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 21,500 แผงค้า ในจำนวนนี้ตลาดนัดจตุจักรคือตลาดที่ใหญ่สุดมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง

อีกตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญ คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน เหตุผลเนื่องจากความสะดวกสบายในการชอปปิ้งออนไลน์ และสภาวะบีบคั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคหันไปชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ผ่าน e-marketplace ที่เป็นการนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ หรือตลาดสินค้าออนไลน์ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียว ซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ อย่าง Lazada, Shopee

นอกจากนี้ จำนวนส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้โลตัสยังเท่าเดิม และยังมีคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่ และเป็นเจ้าของกิจการอีคอมเมิร์ซด้วย เช่น เซ็นทรัลได้ร่วมทุนกว่า 17,500 ล้านบาท กับ JD ดอตคอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน จัดตั้ง เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) สร้างมาร์เกตเพลส (Marketplace) แห่งใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล ดังนั้น มิติของตลาดสมัยใหม่เปิดกว้าง และเป็นโอกาสของคู่ค้าในการขยายไปต่างประเทศอีกด้วย

- ทำไมคำวินิจฉัยระบุว่า “มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม”?

ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของตลาดค้าปลีกทุกประเภท นั่นหมายถึงทางเลือกยังเป็นของผู้บริโภค จำนวนสัดส่วนร้านค้าเดิมของเทสโก้มีตัวเลขที่มีนัยสำคัญ แต่เป็นการค้าปลีกแบบเก่าที่ต้องปรับตัวอย่างหนักหากดูแนวโน้มไฮเปอร์มาร์ททั่วโลก

ดังนั้น สิ่งที่บางคนคิดว่าเป็นการได้เปรียบหรือมีอำนาจเหนือตลาด ในความจริงคือซื้อมาราคาสูงก่อนโควิด และต้องพลิกโมเดลให้อยู่รอด ซึ่งการมีผู้เล่นน้อยราย เนื่องจากเกิดการขายออกให้บริษัทต่างชาติ หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เกตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัว ทำให้ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เกต เปลี่ยนมือเป็นของต่างชาติมากขึ้น หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป

- ปี พ.ศ. 2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co., Big King, Imperial, Tan Hua Seng และห้างขนาดกลาง ๆ เลิกกิจการ

- ปี พ.ศ. 2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus

- ปี พ.ศ. 2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cencar คืนให้กับ Carrefour

- ปี พ.ศ. 2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino Group จากฝรั่งเศส

- ปี พ.ศ. 2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

ดังนั้น การที่บริษัทไทยเริ่มซื้อกิจการกลับมาได้จากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเม็ดเงินภาษีจะกลับสู่ประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังเปิดโอกาสส่งออกสินค้าชุมชนไปต่างประเทศอีกด้วย

- เหตุผลในการออกเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ มีวัตถุประสงค์อะไร จะสามารถป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร?

วันนี้ต้องยอมรับว่า บริษัทในประเทศไทยอ่อนแออยู่แล้ว ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การที่ยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ถอดใจล้มเลิกดีล ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย การเพิกถอนใบอนุญาต หรือการล้มดีลจากมือที่สามเป็นเรื่องง่าย แต่การจะหาผู้ซื้อรายใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก และที่แน่ๆ คือ ผู้ซื้อรายใหม่ต้องเป็นต่างชาติ จึงจะไม่ติดเงื่อนไขที่ผู้ร่วมประมูลในประเทศประสบอยู่ แต่คนมักไม่พูดถึงว่า เทสโก้จะเสียหายเท่าไหร่ และกระทบคู่ค้า และสำนักงานเท่าใด ส่วนใหญ่เพียงกลัวว่าบริษัทไทยจะใหญ่เกินไป ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในไฮเปอร์มาร์ท ล้วนเป็นของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่นักวิชาการมักไม่กล้าแตะต้อง

- เหตุใดจึงเลือกมาตรการเยียวยาที่เป็นเงื่อนไขควบคุมพฤติกรรม แต่ไม่ใช้เงื่อนไขโครงสร้างตลาด เช่น ลดขนาดการควบรวม ห้ามขยายสาขา ลดจำนวนสาขา?

หากมีการห้ามขยายสาขา ไม่ใช่การส่งเสริมธุรกิจ แต่เป็นการจำกัดการอยู่รอดของธุรกิจ กฎหมายของไทยต้องไม่เป็นอุปสรรค คนออกฎหมายหากมองจากนักวิชาการเพียงอย่างเดียว จะปฏิบัติไม่ได้จริง อาจทำให้กลไกทางเศรษฐกิจเสียหาย กฎหมายในประเทศไทย ทำไมถึงทำให้มีการลงทุนจากต่างชาติน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยมีแนวคิดกำกับ ควบคุม มองในด้านลบ แล้วออกกฎระเบียบ ขั้นตอน มากำกับ ในขณะที่สิงคโปร์ เวียดนาม เน้นการส่งเสริม ให้โอกาสลงทุนมาพัฒนา เกิดปัญหาแล้วมาว่ากันเป็นกรณีๆ ไป บรรยากาศการลงทุนจึงเกิดขึ้น อย่างเช่นดีลเทสโก้นี้ หากผ่านทุกขั้นตอน แล้วยังมีกระบวนการชักเย่อ แน่นอนว่ากระทบการระดมทุน กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ใครจะขยายการลงทุนในไทย คงต้องทบทวนอย่างหนัก

- ด้วยข้อมูลสนับสนุนชุดเดียวกัน เพราะเหตุใดบอร์ดจึงเสียงแตก และมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกเป็น 2 ขั้ว?

เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะบอร์ดมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น หากเสียงออกมาเอกฉันท์จะแปลกมากกว่า แต่ที่ดูแล้วแปลกกว่าคือ ประธานคณะกรรมการออกความคิดเห็นในเสียงข้างน้อย ซึ่งโดยปกติการออกมาเป็นเลขคี่ เพื่อให้ประธานชี้ขาดในกรณีเสียงออกมาเสมอกัน แต่กรณีนี้หลายฝ่ายแปลกใจที่ประธานรีบลงคะแนนเลือกแต่แรก และร่วมตั้งโต๊ะแถลงเสียงข้างน้อย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติ

- แนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือตลาดหลังจากมีการควบรวมนอกเหนือไปจากการใช้ ม.50?

เงื่อนไข 7 ข้อ มาจาก กขค. ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพผลการพิจารณา เพื่อให้เศรษฐกิจภาพรวมเดินต่อได้ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่คุ้มครองผู้บริโภคและคู่ค้าอยู่แล้ว อยู่ที่การบังคับใช้ และให้ผู้รับผิดชอบได้ปฏิบัติหน้าที่

บรรยากาศการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากประเทศไทยจะเน้นความเข้มงวดด้านกฎหมายเป็นสำคัญ โดยมีกฎหมายลูกสนับสนุนให้มีการฟ้องร้อง ประเทศไทยก็จะล้าหลังด้านบรรยากาศการลงทุน ธุรกิจที่จะเข้าลงทุนในประเทศไทย ก็ต้องคิดหนัก และอาจหันไปพิจารณาประเทศอื่น อย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ที่มีตลาดใหญ่กว่า และกฎหมายที่เอื้ออำนวยมากกว่า ดังนั้น หากเมืองไทยยังปล่อยให้คนบางกลุ่มเรียกร้องสิทธิ แต่ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ ต่อไปไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนในประเทศเรา แล้วใครจะรับผิดชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น