xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเลี้ยงไก่ขอบคุณกรมการค้าภายใน ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาก้าวผ่านวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 เดือน นับจากเดือนธันวาคม 2563 ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ตลาด ร้านค้า ร้านอาหารบางแห่งต้องปิดทำการ ตลอดจนการประกาศหยุดการเรียนการสอน การท่องเที่ยวกลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง ซึ่งในภาวะปกตินั้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการบริโภคไข่ไก่ถึงวันละ 2 ล้านฟอง ส่งผลให้การบริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปริมาณผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ยวันละ 42 ล้านฟอง แต่มีการบริโภคเพียงวันละ 38 ล้านฟอง ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินถึงวันละ 4 ล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ กรมการค้าภายในเร่งออกมาตรการแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการจัด “โครงการไข่ไก่ธงฟ้าลดราคาเพื่อประชาชน” ภายในปั๊มน้ำมันพีทีที สเตชั่น และบางจาก ที่ดำเนินการจบไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วยระบายไข่ไก่สดตามเป้าหมาย 20 ล้านฟองถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ประกอบกับคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมีมติให้กรมการค้าภายในดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพไข่ไก่ปี 2564 ดำเนินการเร่งผลักดันไข่ไก่ 200 ล้านฟองออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเร่งด่วน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการส่งออกจำนวน 100 ล้านฟองแรก ในราคาฟองละ 50 สตางค์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากการดำเนินการที่ต่อเนื่องและทันท่วงทีนี้จะสามารถระบายไข่ไก่ออกจากระบบและพยุงราคาไข่ไก่ไม่ให้ตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถรับภาระการขาดทุนได้ ทั้งนี้ การส่งออกไข่ไก่ที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากภาวะจำเป็นที่ไทยต้องเร่งระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ โดยผู้ส่งออกต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

“เกษตรกรขอขอบคุณกรมการค้าภายในที่เห็นถึงทุกข์ของเกษตรกร และยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งการจัดโครงการไข่ไก่ธงฟ้าฯ และการเร่งส่งออกไขไก่ โดยพิจาราณาสนับสนุนเงินชดเชยเพื่อกิจกรรมนี้ เพราะการส่งออกนั้นไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้ผู้ส่งออก แต่เป็นการขายขาดทุนฟองละ 40-50 สตางค์เพื่อแข่งขันราคากับทั้งจีน และสหรัฐฯ ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครอยากส่งออกไข่ การส่งออกจึงถือเป็นการเสียสละเพื่อพี่น้องเกษตรกรและอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งระบบ” นายสุเทพกล่าว


ด้าน นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึงฟองละ 2.69 บาทแล้ว และมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้นอีกจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง นอกจากนี้ เกษตรกรหลายรายต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการซื้อน้ำสำหรับใช้ภายในฟาร์ม กลายเป็นต้นทุนที่จำต้องแบกรับเพิ่มขึ้นถึง 10-20 สตางค์ต่อฟอง

“ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศขอขอบคุณเอ้กบอร์ด กรมการค้าภายใน และผู้ประกอบการส่งออกที่ร่วมมือกันทำเพื่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทย ขอให้ภาคเอกชนที่มีกำลังพอที่จะช่วยผลักดันการส่งออกได้อีก ให้มาช่วยกันเร่งระบายผลผลิตไข่ไก่ไปยังต่างประเทศ ให้เกษตรกรได้พอลืมตาอ้าปาก และผ่านพ้นวิกฤตทั้งโควิดและปัญหาราคาตกต่ำไปได้” นางพเยาว์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น