xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ปรับพอร์ตปูทางลุยธุรกิจใหม่ อัดงบลงทุน 20-23% ใน 10 ปีข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เทรนด์พลังงานในอนาคตมุ่งไปสู่ GO GREEN และ GO ELECTRIC มากขึ้น บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกต่างวางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจสร้างความสมดุลในทำธุรกิจต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคต เช่นเดียวกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็มีการปรับพอร์ตการลงทุนไปในธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งธุรกิจเดิมที่เป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และกำไร

แม้ว่าผลประกอบการปี 2563 กำไรสุทธิ ปตท.จะหดเหลือ 3.77 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 59% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่หากเทียบกับบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกอย่างเอ็กซอน โมบิล, เชฟรอน หรือปิโตรนาส ที่ถือว่ามีผลงานที่ดีกว่าเพราะบริษัทเหล่านี้ขาดทุนกันถ้วนหน้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานฟอสซิลที่มีสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทน และไฟฟ้า ทำให้การใช้ถ่านหินและน้ำมันนับวันถูกกดดันจากกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ลดการใช้ลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น การลงทุนกลุ่ม ปตท.ในอนาคตจะนำกลไกราคาคาร์บอนเข้ามาประกอบการพิจารณาเพื่อใช้ในการตัดสินใจด้วยเพื่อให้สอดรับเทรนด์โลก โดย ปตท.มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 27% ในปี 2573 ท้าทายกว่าเป้าหมายเดิมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ซึ่งปี 2563 กลุ่ม ปตท.มีการปล่อยคาร์บอน 31 ล้านตันคาร์บอน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 40 ล้านตันคาร์บอน และพร้อมที่จะยุติการทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียด้วยหากมีผู้ที่สนใจซื้อกิจการในราคาที่เหมาะสม แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจนี้จะให้ก็ตาม ยอมรับว่ายังไม่ได้รีบการติดต่อขอซื้อ ทำให้ ปตท.ยังต้องบริหารจัดการผลิตต่อไปโดยไม่มีการขยายธุรกิจเพิ่มเติม


เน้นการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้ปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ด้วยการกำหนดงบลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) และNew Frontier ไว้ที่ 20-23%ใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2573) เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้กลุ่ม ปตท.ในอนาคต แม้ว่าพอร์ตธุรกิจ ปตท.ในปัจจุบันยังมีเกณฑ์ที่ดี และสร้างฐานการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อให้รองรับความเสี่ยงจากการลงทุนธุรกิจใหม่ของ ปตท. โดยพอร์ตธุรกิจเดิมมีการบาลานซ์ของกลุ่มธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง เริ่มจากการลงทุนในกลุ่มปิโตรเลียมขั้นต้น (Up Stream) ของกลุ่ม ปตท.ที่ให้ความสำคัญในการลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมัน เป็นสัดส่วน 80:20 ในอนาคต

ทำให้การลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุน การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ M&A เน้นการลงทุนในแหล่งก๊าซฯ เป็นสำคัญ ล่าสุด ปตท.สผ.เพิ่งเข้าไปลงทุนถือหุ้น 20% ในแปลง Oman Block 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯ บนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอัตรา 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสตมากกว่า 65,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ ปตท.สผ.ปรับเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 398,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมายการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือโตขึ้นเฉลี่ย 12% จากปีก่อน

แม้ว่าการลงทุนในแปลง Oman Block 61 จะใช้เงินลงทุนสูงถึง 2.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7.35 หมื่นล้านบาท แต่ทันทีที่ปิดดีล โครงการนี้จะสร้างกระแสเงินสดให้ ปตท.สผ.ทันที 200-300 ล้านหรียญสหรัฐ หรือราว 6,000-9,000 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น 20% ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนที่กลุ่ม ปตท.จะให้ความสำคัญในการลงทุนเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ ยังหันมาทำธุรกิจก๊าซฯ แบบครบวงจร หรือ Gas Value Chain ช่วยสร้าง Synergy ในกลุ่ม ปตท.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปลายปี 2563 ปตท.สผ.ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในอ่าวเมาะตะมะ ที่ ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ (โอเปอเรเตอร์) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม 3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีการวางท่อก๊าซฯ ทั้งในทะเลและท่อก๊าซฯ บนมายังย่างกุ้งเชื่อมมายังโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2 พันล้านเหรียญ และมั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา เพราะกลุ่ม ปตท.ได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่ก่อนเมียนมาจะเปิดประเทศ

ขณะนี้ กลุ่ม ปตท.ได้ขยายพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตตามทิศทางของโลกใน 6 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1. พลังงานแห่งอนาคต (New Energy) ปตท.มีเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 8 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2573 โดย ปตท.เข้าไปถือหุ้น 50% ในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP บริษัทย่อยที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อใช้เป็นบริษัทในการรุกการลงทุนหมุนเวียนทั้งโซลาร์และลมในต่างประเทศ

รวมทั้งมีแผนทำธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจร ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเทรดซื้อขายไฟฟ้ากันได้ภายใต้แพลตฟอร์มนี้ ล่าสุดโรงงานจอห์นสันในประเทศไทยตัดสินใจใช้พลังงานสะอาดในการผลิต

นอกจากนี้ ปตท.เตรียมเปิดแพลตฟอร์มการให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยผู้ใช้สามารถสลับแบตเตอรี่ที่กำลังไฟใกล้หมดได้ที่ Swap Station และมีระบบควบคุมแบบคลาวด์ โดยมีแอปพลิเคชันเป็นตัวช่วยสำคัญในการให้บริการสลับแบตเตอรี่ได้อย่างครบวงจร ตัวแบตเตอรี่เองก็มีน้ำหนักเบาเพียง 5.3 กิโลกรัม มีกำลังไฟฟ้าก้อนละ 60 โวลต์ 12 แอมป์ต่อชั่วโมง คาดว่าจะเปิดตัวโครงการนี้ในเดือนมีนาคมนี้

2. Life Science เป็นอีกหนึ่ง New S-Curve ที่ ปตท.มีความมุ่งมั่นในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจยา ธุรกิจอาหารและโภชนาการ ธุรกิจเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีการจัดตั้งบริษัท Innobic (Asia) ด้วยจดทะเบียนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท มีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามานั่งเป็นบอร์ดเกือบทั้งหมด คาดว่าในเร็วๆ นี้จะเห็นการลงทุนของบริษัทดังกล่าว และมีวัสดุปิดแผลที่ช่วยในการสมานแผลได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการคิดค้นจากสถาบันวิจัยของ ปตท.เอง โดยจะมีการจำหน่ายในเร็วๆ นี้เช่นกัน

ปตท.ยังได้จับมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2565 เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยารักษามะเร็งในราคาที่ถูกกว่าราคานำเข้าถึง 50%


3. Mobility & Lifestyle โดยมี บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นหัวหอกในการดำเนินการ โดยเข้าไปถือหุ้นราว 9% ใน Flash Express ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จัดส่งพัสดุอันดับ 3 ของไทย ตลอดจนขยายไปสู่ Life Style Ecosystem เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

4. High Value Business เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะช่วยต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีในเครือ ปตท. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำเม็ดพลาสติกในกลุ่มปตท.ไปผลิตเป็นเครื่องมือแพทย์หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการทำหน้ากากอนามัย หรือชิ้นส่วนรถยนต์อีวี

5. Logistics & Infrastructure ปตท.ได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในการพัฒนาโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยังรอผลการชี้ขาด เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง ด้วยเครือข่ายคมนาคมที่ครบวงจร ด้านระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation แบบไร้รอยต่อ

รวมทั้งให้ความสำคัญกับธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Commerce มากยิ่งขึ้น จากธุรกิจแบบ business-to-business (B2B) ต่อยอดธุรกิจ business-to-customer (B2C)


6.AI & Robotics Digitalization โดย ปตท.สผ.จัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในการพัฒนา และให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์สำหรับสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม อาทิ หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (SFCR) ตัวแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้มีหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (IPIR) เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด สามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง ถ่ายภาพทางอากาศ และยังสามารถใช้บินสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยวิเคราะห์พืชผลเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วย

ล่าสุด ปตท.ยังได้จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ที่ Alpha Com (บริษัทย่อยปตท.)ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (Plublic Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่างๆ ให้แก่บริษัทองค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.ได้ทำสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านคลาวด์และดิจิทัลมาต่อยอดเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระดับองค์กรและประเทศ สานต่อแนวคิด ‘PTT’ หรือ Powering Thailand’s Transformation ของ ปตท.

นายอรรถพลกล่าวย้ำว่า แม้ว่า ปตท.จะแตกไลน์การลงในธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย แต่ยืนยันว่าพลังงานยังเป็นธุรกิจหลักของ ปตท.(Core Energy) เพียงแต่อนาคตพลังงานมีความหลากหลาย ปตท.ต้องปรับตัวลงทุนตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) และใช้วงเงินรวม 1.03 แสนล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 3.32 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจไทย

ส่วนวงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติดำเนินการของกลุ่ม ปตท.ใน 5 ปีนี้ (2564-2568) อยู่ที่ 8.51 แสนล้านบาท และเตรียมงบลงทุนในอนาคตใน 5 ปีไว้ใกล้เคียงกันอีก 8 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมในการรุกธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต

ยื่นขอใบอนุญาต LNG Shipper เพิ่ม

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยนโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ ในเร็ววันนี้ ทำให้ ปตท.ตัดสินใจยื่นขอเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Shipper) หรือชิปเปอร์รายใหม่ จากเดิมที่ ปตท.มีใบอนุญาตในการนำเข้า LNG อยู่แล้ว แต่เป็นการนำเข้า LNG เพื่อใช้ในตลาดเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมีสัญญาซื้อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

การยื่นขอใบอนุญาตชิปเปอร์อีกใบเพื่อมุ่งทำตลาดป้อนก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้า SPP ที่ขายไฟฟ้าให้ภาคโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ภาคเอกชนได้ใบอนุญาตชิปเปอร์รายใหม่ก็ต้องการมุ่งเจาะตลาดกลุ่มนี้ ในฐานะที่ ปตท.ดำเนินธุรกิจก๊าซฯ มานาน 40 ปี มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อม ก็น่าจะมีโอกาสในการทำตลาดนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งมีลูกค้าที่พร้อมจะซื้อ LNG ในมือแล้วด้วย เพียงรอการอนุมัติจาก กพช.

 จีบค่ายรถอีวีตั้งโรงงานในไทย

ด้านนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้มีการเจรจาบริษัทผลิตรถยนต์อีวีต่างชาติให้มาตั้งโรงงานในประเทศไทย โดย ปตท.พร้อมซัปพอร์ตด้านแบตเตอรี่ ที่กลุ่ม ปตท.มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีของ 24M และมีพลาสติกคุณภาพสูงเพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ขณะเดียวกันก็ปิ๊งไอเดียในการนำแบตเตอรี่ไปใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น รถถัง ส่วนรูปแบบความร่วมมือจะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลการศึกษาระหว่าง ปตท. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าจะเข้าไปดำเนินการอะไรได้บ้าง

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.มองโอกาสการลงทุนทั้ง EV Charging ทั้งในและนอกสถานีบริการ PTT Station รวมไปถึงการจับมือกับกองทัพบกเพื่อนำแบตเตอรี่เทคโนโลยีของ 24M ไปใช้ในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่จะดำเนินการในพื้นที่ราชพัสดุที่กองทัพบกดูแลอยู่ คาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น