นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ข้อมูลภาพจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบจุดความร้อนทั้งประเทศมากถึง 4,504 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2,017 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,511 จุด พื้นที่เกษตร 382 จุด พื้นที่เขต สปก. 338 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 239 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด โดยจุดความร้อนที่เกิดขึ้นมีการจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยจังหวัดกาญจนบุรี พบจุดความร้อนมากที่สุด 646 จุด รองลงมาเป็นจังหวัดลำปาง 465 จุด และจังหวัดตาก 344 จุด ตามลำดับ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรตามลำดับ เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร ส่วนภาคใต้ พบจุดความร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับในช่วงนี้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้การสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ GISTDA ได้ทำการชี้เป้าจุด Hotspot พร้อมกับร่วมบูรณาการข้อมูลกับศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเข้าถึงและดับไฟในพื้นที่ไม่ให้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง
รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกว่า สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยพบมากสุดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาสูงถึง 4,398 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา 1,187 จุด ทำให้พื้นที่ที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนดังกล่าวต้องเฝ้าระวังด้านหมอกควันที่อาจพัดข้ามแดนเข้ามาได้อย่างต่อเนื่องและอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th