กนอ.เด้งรับนโยบาย “สุริยะ” คงอัตราค่าเช่าที่ดินเขตอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังปี 2564 เท่ากับปี 2563 พร้อมขยับขึ้นค่าเช่าปี 2565-68 เฉลี่ยลดลงเหลือปีละ 2% จากเดิมต้องปรับขึ้น 10% ในทุก 3 ปีเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเกิดการชะลอตัวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัดใช้แนวทางลด ชะลอ หรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่า หรือค่าตอบแทนการบริการต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ และบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้อยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ
นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในที่ประชุมบอร์ด กนอ.ครั้งล่าสุดให้ความเห็นชอบคงอัตราค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการที่เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่อัตราราคาค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเดิมได้หมดอายุลงในปี 2563 โดยเป็นการคงอัตราค่าเช่า 1 ปี (ปี 2564) เท่ากับค่าเช่าของปี 2563 และตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปจะปรับอัตราค่าเช่าขึ้นเหลือเพียง 2% ต่อปี (จากเดิมที่อัตราค่าเช่าที่หมดอายุต้องปรับขึ้น 10% ในทุก 3 ปี)
ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้เช่าที่ดินหรือผู้ต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังที่ทำสัญญาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และผู้เช่าที่ดินรายใหม่หรือต่อสัญญาเช่าที่ดินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2568 โดยอัตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่เช่าที่ดินที่ปฏิบัติตามสัญญา และผู้เช่าที่ดินรายใหม่หรือต่อสัญญาในทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างปี 2564-2568 ชำระค่าเช่าที่ดินในอัตราที่ลดลงจากเดิม
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การผ่อนปรนอัตราค่าเช่าในปี 2564 ด้วยการคงอัตราค่าเช่าเท่ากับอัตราค่าเช่าเดิมในปี 2563 และการปรับอัตราค่าเช่าใหม่ในปี 2565-2568 โดยลดเหลือเพียง 2% ต่อปีดังกล่าว เป็นการลดและทยอยปรับค่าเช่าในแต่ละปี ซึ่ง กนอ.ได้พิจารณาแล้วว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงลดปัญหาการเลิกประกอบกิจการอันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน และธุรกิจต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
“กนอ.เชื่อมั่นว่าในอนาคตแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาเป็นปกติและฟื้นตัวโดยเร็ว เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว