การตลาด - สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอกเผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบแนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงรัดเข็มขัด ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากสถานการณ์โควิด และมองหาสินค้าที่ใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ โดยมีแนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่วงอายุของประชากรในสังคมไทย
เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่คนไทยและคนทั่วโลกต้องใช้ชีวิตอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรอบตัวไปหมดต่อการใช้ชีวิต และการใช้จ่าย ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่แย่ต่อเนื่อง
สถานการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่ายังคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
หลายองค์กร หลายสถาบันได้มีการทำสำรวจวิจัยถึงเนื้อหาสาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ต่อพฤติกรรมและการดำรงอยู่ของประชาชนและธุรกิจ
ล่าสุดสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-15 มกราคม 2564 ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จากทั่วประเทศ
นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่
1. คนไทยมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายจนกว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะดีขึ้น การกลับมาของโควิดทำให้ความต้องการในการใช้จ่ายและระดับความสุขลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากความไม่แน่นอนและสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง
โดยแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายอยู่ที่ 54 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 57 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน ในขณะที่คะแนนความสุขในปัจจุบันอยู่ที่ 64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 66 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน
เหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ต้องการตุนสินค้าเพื่อเลี่ยงการออกไปข้างนอก ใช้บริการส่งอาหารมากขึ้น ซื้อของให้รางวัลตัวเองหรือให้เป็นของขวัญแก่คนรัก ส่วนเหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น รายได้ลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด ซื้อเพื่อมาแทนของเก่า กังวลเรื่องการเงินของครอบครัว และว่างงาน
2. สินค้าที่ตอบสนองหลากหลายจุดประสงค์การใช้งานเป็นที่ต้องการอย่างเห็นได้ชัด ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศพูดถึงการซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวก แต่ยังช่วยตอบสนองความต้องการอื่นๆ ในชีวิต เช่น สมาร์ทโฟน (ใช้ทำงานและให้ลูกใช้เรียนออนไลน์) รถยนต์ (สำหรับการพักผ่อนและการทำงาน) ของตกแต่งบ้าน (เพื่อความสวยงามและความสะดวกสบาย)
ด้าน นางสาวมนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก และ นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวร่วมกันว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองทำให้คนระวังตัว ต้องการกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น โดยสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
เมื่อจำแนกตามภาค พบว่าแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาเนื่องจากโควิด
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ มีเพียงช่วงอายุ 20-29 ปีที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายคงที่ เนื่องจากต้องการบรรเทาความรู้สึกเบื่อจากการอยู่บ้านเป็นเวลานาน โดยต้องการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ส่วนช่วงอายุอื่นๆ มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลง
ผลการสำรวจยังพบว่าข่าวการติดเชื้อโควิดระลอกสองในช่วงก่อนวันหยุดปีใหม่ส่งผลให้มีการกล่าวถึงข่าวโควิดเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 4 ในการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นร้อยละ 81 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ทั้งยังส่งผลให้อารมณ์รื่นเริงของคนไทยในช่วงต้นเดือนธันวาคมกลายเป็นความเงียบเหงาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากการห้ามการเฉลิมฉลองในที่สาธารณะ และคนไทยส่วนใหญ่ยกเลิกการเดินทางในประเทศ นอกจากนี้ ผลกระทบจากกระแสโควิดทำให้ความร้อนแรงทางการเมือง ซึ่งมีการกล่าวถึงสูงสุดในการสำรวจครั้งก่อนถึงร้อยละ 57 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
กรณีศึกษานี้เป็นงานวิจัยที่จะสำรวจทุก 2 เดือนร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัทในเครือ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย
ผลสำรวจนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับภาคของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่เน้นไปเฉพาะผู้ประกอบการที่มองถึงสถานการณ์ค้าปลีกในยุคที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวก่อนหน้านี้ไม่นานว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลงจากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ
*** ค้าปลีกดันมาตรการลดภาระผู้บริโภค
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจะพบว่าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างก็มีการดำเนินการในการกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภค
เช่นกรณีของแม็คโคร นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากภาครัฐออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านโชวห่วย ร้านอาหารที่ร่วมคนละครึ่ง ซึ่งต่างต้องการสินค้าราคาดี ต้นทุนต่ำ ทำกำไรได้ แม็คโครจึงร่วมกับพันธมิตรทางการค้าออกแคมเปญเสริมมาตรการรัฐ ตอกย้ำ ‘แม็คโคร คู่คิดธุรกิจรายย่อย’ สร้างความแข็งแกร่ง และโอกาสทำกำไรให้แก่พ่อค้าแม่ค้า โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก
“ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มร้านค้าโชวห่วย ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านอาหารและเครื่องดื่มรายย่อย ตอบรับดีมากในทุกแคมเปญ เพราะช่วยให้ธุรกิจมียอดขายและกำไรดีขึ้น สอดรับกับการที่ภาครัฐสนับสนุนเงินเพิ่มให้ผู้บริโภคผ่านแอปฯ เป๋าตัง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ แคมเปญที่ได้รับการตอบรับมาก เช่น แจกคูปองส่วนสดพิเศษสำหรับร้านธงฟ้าประชารัฐ, ลดต้นทุนครึ่งราคาสินค้าขายดีเพื่อผู้ประกอบการ ซื้อ 1 แถม 1, คูปองส่วนลดสำหรับร้านค้าสมัครสมาชิกใหม่, สินค้าต้องกินต้องใช้ราคาถูก เพื่อผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน และเมนูสร้างอาชีพ เสริมรายได้”
ประเภทสินค้าขายดีที่สุดภายใต้แคมเปญดังกล่าว คือ น้ำมันพืช ข้าวสาร เครื่องปรุงรส กาแฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ไข่ไก่ นมสด น้ำตาลทราย ปลากระป๋อง และสินค้าทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก) มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20%
“แม็คโครยังตระหนักถึงความต้องการอาชีพของผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ทำโครงการเมนูสร้างอาชีพ คอนเซ็ปต์ ทำง่าย กำไรงาม เน้นต้นทุนต่ำ เพียง 900-3,000 บาท กำไรเฉลี่ย 30-57% เช่น ข้าวไข่เจียว ข้าวเหนียวหมูปิ้งนมสด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สนใจมีรายได้เสริม หรือกลุ่มผู้ว่างงาน บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานประจำ เราหวังว่าแคมเปญดังกล่าวจะช่วยต่อยอดและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้” นางศิริพรกล่าว
ขณะที่ค่ายบิ๊กซีก็ปล่อยแคมเปญต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง ล่าสุด นายวิชัย เบญญาดิลก รองประธานฝ่ายจัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค-การพาณิชย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บิ๊กซี ร่วมกับผู้ผลิตข้าวถุง 9 แบรนด์ชั้นนำและกระทรวงพาณิชย์สานต่อแคมเปญ “ข้าวถุงร่วมใจ ประหยัดทั่วไทย ที่บิ๊กซี” ต่อเนื่องปีที่ 13 ประจำปี 2564 นำเสนอข้าวถุงราคาพิเศษจากแบรนด์ต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคทั่วประเทศ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจข้าวถุงของกลุ่มผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ โดยแคมเปญดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม 2564 ที่บิ๊กซี”
ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังช่วยผู้บริโภคลดค่าครองชีพ บรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนในการซื้อข้าวถุงที่บิ๊กซี เนื่องจากข้าวสารเป็นสินค้าที่สำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค มุ่งเน้นการดูแลราคาสินค้า ปริมาณสินค้าและบริการ ภาระค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม โดยมีข้าวถุง 9 แบรนด์ชั้นนำที่ร่วมจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษ ลดสูงสุด 30% ดังนี้ ข้าวถุงบิ๊กซีแบรนด์ ข้าวถุงเบญจรงค์ ข้าวถุงตราฉัตร ข้าวถุงหงษ์ทอง ข้าวถุงปิ่นเงิน ข้าวถุงแสนดี ข้าวถุงมาบุญครอง ข้าวถุงพนมรุ้ง และข้าวถุงขันทอง
บิ๊กซีคัดสรรข้าวพันธุ์ดีจากเกษตรกรไทย พร้อมจัดทำโปรโมชันสุดพิเศษ เมื่อซื้อข้าวสารถุงทุกยี่ห้อชนิดใดขนาดใดก็ได้ที่ร่วมรายการ ขนาด 4 กก.ขึ้นไป ครบทุก 2 ถุง รับฟรีซันไลต์ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ถุงขนาด 500 มล. มูลค่า 30 บาท จัดรายการเฉพาะที่บิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซีมาร์เก็ต และบิ๊กซีฟู้ดเพลส รวมถึงโปรโมชันนี้สามารถจัดส่งผ่านช่องทาง Call for shop และ Shopping online พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อข้าวสารที่ร่วมรายการครบ 700 บาทขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม 2564
“อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ยังเป็นปีที่มีความท้าทายยังเป็นเรื่องต่อเนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ เงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง ตลอดจนต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพียง 5.7 ล้านตัน และประเมินว่าอุปทานข้าวเปลือกของไทยในประเทศปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปี 2563 เนื่องจากน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ มีแนวโน้มกลับมาปรับตัวดีขึ้น” นายวิชัยกล่าว