xs
xsm
sm
md
lg

“เราชนะ” ใช้ซื้อมือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ภาพที่ประชาชนต่อแถวหน้าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทะเบียนโครงการเราชนะ รับวงเงินเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่ 7,000 บาท สำหรับผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน (Smartphone) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง

แม้ว่าทางรัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนถึงวันที่ 25 ก.พ. 2564 (ก่อนที่จะขยายไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2564) แต่สาเหตุที่ผู้คนเดินทางมาลงทะเบียนกันในวันแรก ส่วนหนึ่งเพราะกลัวจะเสียสิทธิ คิดว่าถ้าลงทะเบียนได้เร็ว ก็จะได้รับเงินเยียวยาเร็ว

ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะลงทะเบียนวันไหน ก็จะได้รับวงเงินผ่านบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดครั้งแรก 4,000 บาท ในวันที่ 5 มี.ค. 2564 และจะได้รับเงินอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท ทุกวันศุกร์ ในวันที่ 12, 19 และ 26 มี.ค. 2564 จนครบ 7,000 บาท

อีกส่วนหนึ่ง เพราะชาวบ้านเหล่านี้อาศัยเหมารถกระบะจากหมู่บ้าน เพื่อเข้ามาลงทะเบียนที่ธนาคารในตัวอำเภอ หรือตัวเมือง เพราะอยู่ในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล ไม่มีรถประจำทางเข้าถึงหมู่บ้าน หากไปกันเยอะๆ จะหารค่าน้ำมันถูกกว่า

ด้วยความที่การลงทะเบียน ประชาชนต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดตัวจริง ที่ยังไม่หมดอายุไปด้วยตัวเอง ทำให้การทำรายการเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งก็น่าเห็นใจพนักงานธนาคารกรุงไทยทุกคนที่ต้องเหนื่อยกันหน่อยในช่วงนี้

อย่างจังหวัดน่าน ชาวบ้าน 6 อำเภอ ได้แก่ ปัว ท่าวังผา เฉลิมพระกียรติ เชียงกลาง ทุ่งช้าง และสองแคว ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 2 แสนคน ต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทย สาขาปัว เพราะโซนนี้มีเพียงสาขาเดียวเท่านั้น

ทราบว่าทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขยายระยะเวลาลงทะเบียนออกไปอีก ส่วนธนาคารกรุงไทยก็พยายามเพิ่มจุดบริการพิเศษทั่วประเทศ ให้บริการรับลงทะเบียนโครงการเราชนะอีก 871 แห่ง นอกเหนือจากสาขาธนาคาร

กล่าวถึงโครงการเราชนะ เมื่อวันก่อนไปซื้อของที่ร้านโชวห่วยแห่งหนึ่ง เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ที่นั่นไม่ได้มีเพียงแค่สินค้าอุปโภค บริโภคเท่านั้น แต่ยังจำหน่ายอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านชิ้นเล็กๆ เช่น เตารีด พัดลม กระติกน้ำร้อน อีกด้วย

ระหว่างนั้นฟังเจ้าของร้านเล่าว่า โครงการเราชนะ ที่รัฐบาลแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่ คนละ 7,000 บาท ถ้ามีคนอยากได้ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ก็มาซื้อกับทางร้านได้ โดยสแกนจ่ายครั้งละ 1,000-2,000 บาท

ถ้าสแกนจ่ายครบแล้ว ก็จะไปเอาสินค้าจากร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามาให้ รอเอาของชิ้นใหญ่กลับบ้านได้เลย

ฟังดูแล้วก็เข้าท่าดี เพราะเป็นการ “ซื้อจริง-ขายจริง”ไม่ใช่การทุจริต แบบเอาวงเงินจากโครงการของรัฐมาแลกเป็นเงินสด ทราบมาว่ามีร้านค้าบางแห่งแอบรับแลกวงเงินจากโครงการของรัฐเป็นเงินสด ธนาคารกรุงไทยจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

อีกเรื่องหนึ่ง ทราบมาจากกลุ่มผู้ขายโทรศัพท์มือถือรายย่อย พวกร้านตู้กระจกคุยกันว่า มีลูกค้าสนใจจะนำวงเงินจากโครงการเราชนะ รอให้ครบวงเงิน 7,000 บาท มาซื้อโทรศัพท์มือถือที่ร้านแต่ละแห่ง

คนที่ซื้อมือถือช่วงนี้อาจจะมีความจำเป็น เช่น มือถือที่ใช้อยู่มีสภาพเก่าแล้ว เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รายได้ขาดหายไป ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่

คนขายก็อยากขายใจจะขาด แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ เพราะกลัวว่าธนาคารกรุงไทยจะตรวจสอบแล้วกล่าวหาว่าทุจริต!

ปัจจุบัน มีร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือหลายร้าน เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล มีทั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ ร้านค้าเช่า ร้านตู้กระจก แผงค้า ซึ่งก็คือผู้ค้ารายย่อย ไม่ใช่ช้อปของค่ายมือถือโดยตรง ที่ไม่เข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว

ถือว่าเป็นการกระจายรายได้ให้ผู้ค้ารายย่อย ซึ่งเป็นคนหาเช้ากินค่ำ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเหมือนกัน ถ้าจะด่าว่าเอื้อประโยชน์นายทุน ทำไมไม่ไปด่าร้านโชวห่วย ที่ส่วนใหญ่ซื้อของแบบขายยกหีบ ขายยกแพ็ค จากห้างแม็คโครมาขายต่อล่ะ?

จากวงเงินโครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลออกให้ครึ่งหนึ่ง คือ 150 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าพวกเคสมือถือ สายชาร์จ หูฟัง ฟิล์มกันรอย เมมโมรีการ์ด ฯลฯ ซึ่งมีราคาประมาณไม่ถึง 100 บาท ถึง 300 บาทขึ้นไป

เท่าที่ถามผู้ขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งว่า วงเงิน 7,000 บาท ซื้อมือถือรุ่นไหนได้บ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า พวกยี่ห้อออปโป้ (OPPO) วีโว่ (VIVO) ซึ่งสเปกดี ถ่ายรูปสวย ราคาไม่แพง ไม่ถึง 10,000 บาท

“ทางร้านก็อยากขาย แต่ก็กลัวธนาคารกรุงไทยเข้ามาตรวจสอบ หาว่าทุจริต เพราะถ้าสแกนจ่ายที 7,000 บาท เขาจะเริ่มสงสัยแล้วว่าผิดปกติหรือเปล่า”ผู้ขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง กล่าว

ส่วนตัวมองว่า จากบรรทัดฐานโครงการคนละครึ่ง ที่ห้ามนำเงินที่ได้ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาสูบ และบริการต่างๆ ก็ไม่ได้ห้ามซื้อโทรศัพท์และอุปกรณ์มือถือ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือก็ถิอเป็นสินค้า ไม่ใช่บริการ

หากใช้ตรรกะเดียวกับโครการเราชนะ ยังไม่เห็นว่ามีข้อไหนห้ามนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขนาดโครงการของรัฐที่ผ่านมา เช่น ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน หรือแม้กระทั่งคนละครึ่ง ยังต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งก็ต้องใช้โทรศัพท์มือถือสแกนจ่ายแทนเงินสดอยู่ดี

อาจมีคนมองว่า รัฐบาลแจกเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ทำไมถึงเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ สิ้นเปลืองหรือไม่ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ใช่ แต่สมัยนี้โทรศัพท์มือถือ นอกจากจะใช้ติดต่อสื่อสารแล้ว บางคนก็ใช้ประโยชน์ทำงานได้อีกด้วย

อย่างบางคนมีอาชีพเสริมเป็นคนขับรถส่งคน ส่งของ ส่งอาหาร บางคนเป็นแม่ค้าอาหารตามสั่ง ต้องการสมัครเป็นพาร์ทเนอร์บริการส่งอาหารก็มี หรืออย่างข่าวน้องชมพู่ ก็ยังเคยเห็นแม่น้องชมพู่ไลฟ์สดขายผ้ามัดย้อมอยู่เลย

อย่างที่ผู้ขายโทรศัพท์มือถือบอกว่า วงเงิน 7,000 บาท ซื้อพวกยี่ห้อออปโป้ วีโว่ (หรือถ้าเป็นผู้เขียน ก็จะแนะนำให้ซื้อยี่ห้อเสี่ยวมี่ (XIAOMI) แทน) ไม่ใช่มือถือเรือธง ที่ตอนนี้ราคาขายเครื่องละสอง-สามหมื่นเข้าไปแล้ว

ผู้เขียนสนับสนุนให้ซื้อมือถือที่ใช้แล้วทน ใช้ได้นาน ไม่ใช่มือถือราคาถูก ประเภทแรมหนึ่งกิ๊ก รอมแปดกิ๊ก (RAM 1 GB, ROM 8 GB) ซึ่งถ้าใช้ไปสักพักเครื่องจะค้างบ่อยครั้งทำอารมณ์เสีย เคยซื้อมาใช้ไม่ถึงปีก็ต้องทิ้งเครื่องนั้นไป

อย่างต่อมา ต้องยกกรณีที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เคยกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 มีดรามาว่าคนไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนเราชนะไม่ได้ ตอนหนึ่งระบุว่า

“เหตุผลที่ไม่ให้เป็นเงินสดเพราะไม่อยากให้คนสัมผัสเงิน เพราะเชื้อโควิด-19 ปะปนมาได้ และต้องการให้ประชาชนมีประสบการณ์ของสังคมไร้เงินสด ขณะที่การให้เงินสด รัฐไม่สามารถกำหนดการหมุนเวียน ถ้าให้เป็นเงินสดจะจำกัดอะไรไม่ได้และติดตามไม่ได้เลย เงินเหล่านั้นจะหายไปก็สิ่งอะไรควบคุมได้ยาก เช่น นำไปซื้อสุรา เล่นการพนัน นำไปใช้กับร้านค้าขนาดใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล และเงินที่ให้นี้ใช้เสมือนเป็นเงินสดได้ จะเรียกว่าไม่ให้เงินสดก็ไม่เชิง เพียงแต่จำกัดสิทธิ์ อยากให้ช่วยคนตัวเล็กด้วยกัน ชาวบ้านช่วยแม่ค้า แม่ค้าไปซื้อของกับเกษตรกรหมุนเวียนคนตัวเล็กด้วยกัน ไม่ไปเรื่องของ สุรา การพนัน ต้องการลดค่าครองชีพช่วยประชาชนตัวเล็กๆ ส่วนคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบโหลดแอพพลิเคชั่นเป๋าตังได้นั้น ก็ต้องจัดหาโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงแล้ว คนจำนวนนี้คงมีไม่เยอะ จะอำนวยความสะดวกผู้ขายโทรศัพท์มาให้ราคาไม่แพง หากไม่มีเงิน ก็ให้ใช้สิทธิ์เราชนะซื้อโทรศัพท์ได้”

ในเมื่อรัฐมนตรีบอกแล้วว่า สิทธิโครงการเราชนะสามารถซื้อโทรศัพท์มือถือได้ ถ้าในความเป็นจริงกลับซื้อไม่ได้ ก็ขอเชิญสาธารณชนช่วยกันฟาดรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ โทษฐานที่แถลงข่าวโกหกประชาชนโดยพร้อมเพรียงกัน!

อีกประการหนึ่งก็คือ วงเงินเราชนะที่ได้รับเป็นสิทธิของแต่ละคน ตราบใดที่ไม่ได้นำไปใช้จ่ายนอกลู่นอกทาง เช่น ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาสูบ เครื่องประดับหรือทองคำ อันนี้น่าตำหนิมากกว่า

ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แล้วพบว่านำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อบุหรี่ ซื้อสุรา มาคราวนี้ให้วงเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง ยังตรวจสอบได้ว่าเอาไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง

แม้ว่าวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพ แต่หากจะบังคับให้นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เพียงอย่างเดียว ระยะเวลาถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 ยังไงวงเงินจำนวนนี้ก็ใช้ไม่หมดอยู่ดี

สมมติว่าครอบครัวหนึ่ง มีสมาชิก 5 คน ได้สิทธิโครงการเราชนะ 3 คน แต่มีอยู่คนหนึ่งรับผิดชอบของกินของใช้ในบ้าน อาจจะใช้สิทธิเราชนะซื้อของเข้าบ้านเพียงพอแล้ว แล้วอีก 2 คนที่เหลือ จะเอาวงเงินที่ได้ไปทำอะไร?

คนแต่ละคนมีความจำเป็น มีความต้องการ ณ เวลานั้นไม่เหมือนกัน บางครั้ง บางสถานการณ์ บรรทัดฐานของตัวเองอาจจะไม่เหมาะที่จะตัดสินผู้อื่นเสมอไป จึงต้องฟังเสียงสะท้อนอีกด้านหนึ่งเพื่อให้ได้มุมมองที่รอบด้าน

ไปคุยกับคนที่หาเช้ากินค่ำรายหนึ่ง ภูมิลำเนาอยู่ในชนบท บอกว่า ถ้ารัฐบาลให้เงินเยียวยาเป็นเงินสด แบบโครงการเราไม่ทิ้งกัน (5,000 บาท 3 เดือน) แค่นั้นก็จบแล้ว เพราะยังได้นำเงินไปใช้เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าหอพัก รวมทั้งค่าขนมลูกได้

ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่กับแฟนสองคน มีภาระค่าหอพัก 3,500 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ 400 บาท ส่วนลูกอาศัยอยู่กับตาและยายที่ภูมิลำเนา ค่าขนมวันละ 100 บาท ค่าเล่าเรียนเทอมละ 6,000 บาท และยังต้องส่งหลานเรียนมหาวิทยาลัยอีก

เขาบอกว่าที่ผ่านมา โครงการเราไม่ทิ้งกัน ยังสามารถนำเงินไปใช้เป็นค่าขนมลูกไปโรงเรียน และใช้หนี้ค่างวดรถได้ แต่มาคราวนี้ให้เป็นวงเงิน ซึ่งสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งที่อยู่ในภูมิลำเนา ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ รวม 5 คน

แต่พอไม่ให้เป็นเงินสด เมื่อไม่มีทางเลือก ก็ต้องใช้วิธีถอนออกมาเป็นเงินสดกับร้านค้า เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย บางแห่งคิดค่าใช้จ่ายร้อยละ 10 ต่อครั้ง เช่น สแกนจ่าย 1,000 บาท ทางร้านจะหักเงิน 100 บาท แล้วได้รับเงินสด 900 บาท

เมื่อไม่นานมานี้ที่รัฐบาลเติมวงเงิน 675-700 บาท ลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็มีคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นำวงเงินที่ได้รับมารูดที่ร้านค้าเพื่อแลกเป็นเงินสด ซึ่งพบว่าทางร้านหักเงินมากถึง 75 บาทเลยทีเดียว

ถามว่าซื้อของกินของใช้ในบ้านหมดไปเท่าไหร่ เขากล่าวว่า ก็ไม่เท่าไหร่ เพราะอย่างที่บ้านปลูกข้าว ข้าวก็สีกินเอง ปลาก็หามาเอง จะมีก็แต่ไช่ไก่ ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส แฟ๊บ สบู่ ยาสีฟัน ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ก็จะเข้ามาซื้อที่ตัวอำเภอนานๆ ครั้ง

โดยปกติแล้วเวลาออกมาทำธุระ มาซื้อของที่ตัวอำเภอ ในหมู่บ้านชนบทที่ไม่มีรถประจำทาง ก็ต้องขับรถกระบะออกมา หมดค่าน้ำมัน 100-200 บาท บ้านไหนไม่มีรถ ก็ต้องจ้างคนที่มีรถพาไปรับไปส่ง จึงไม่มีใครออกจากหมู่บ้านบ่อยครั้ง

“ถ้าจะให้วงเงินเราชนะซื้อแต่สินค้าอุปโภค บริโภค ถามว่าจะให้กินแต่น้ำปลา กินผงชูรสเหรอ”เขากล่าว

นอกจากข้อจำกัดที่วงเงินจากโครงการของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง หรือล่าสุดอย่างโครงการเราชนะ ที่ใช้ได้แค่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ยังมีเจ้าของร้านค้าบางแห่งฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้ามากขึ้นเกือบ 2 เท่า

เขาเล่าว่า แหนมแท่งที่ปกติขายกันแท่งละประมาณ 65 บาท ก่อนหน้านี้ร้านค้าขายแท่งละ 85 บาท ปรากฎว่าพอมีโครงการของรัฐ พ่อเอาวงเงินไปซื้อ ร้านค้าขายแท่งละ 110 บาทเลยทีเดียว

ถามพ่อว่าซื้อทำไม พ่อตอบว่า “ซื้อเพราะอยากกิน”จึงบอกไปว่า “วันหลังถ้ามันแพงก็ไม่ต้องไปกิน”

เท่าที่ฟังก็เข้าใจ และเห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ ถึงความจำเป็นที่พวกเขาต้องการเงินสด แต่อีกด้านหนึ่งก็เข้าใจรัฐบาลที่ให้เป็นวงเงินซื้อสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันไม่ให้นำวงเงินเยียวยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

กลับมาที่เรื่องโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายจากกระทรวงการคลังหรือธนาคารกรุงไทยว่า สามารถนำเงินที่ได้จากโครงการเราชนะไปซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หรือไม่

โดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะมีคนนำวงเงินที่ได้ไปซื้อสิ่งของเหล่านั้น ก็ให้เขาซื้อไปเถอะ เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการก็เป็นร้านค้ารายย่อยที่รับสินค้ามาจำหน่ายอีกที ไม่มีนายทุนเข้าร่วมโครงการโดยตรง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้เหมือนกัน

อีกประการหนึ่งคือ หากจะบังคับให้ซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค เพียงอย่างเดียว ก็ไม่ต่างอะไรกับภาวะแพนิค บายอิ้ง (Panic Buying) ที่ให้ซื้อของไปกักตุนเกินความจำเป็น หากมีมากเกินไป สุดท้ายของที่เก็บไว้ก็เน่าเสีย กลายเป็นขยะไปอีก

ส่วนประเด็นที่ชาวบ้านนำวงเงินโครงการของรัฐมาแลกเป็นเงินสด ใจหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่อีกใจหนึ่งก็เข้าใจ ถ้าจะเปลี่ยนข้อจำกัดของโครงการให้มีความยืดหยุ่น โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเสี่ยงทุจริตก็น่าจะดีกว่า

อย่าบีบให้พวกเขาไม่มีทางเลือกแล้วต้องทุจริตกันเลย ผลสุดท้ายไม่ว่าฝ่ายไหนก็บอบช้ำกันหมด!


กำลังโหลดความคิดเห็น