xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดสอนอังกฤษ 3.5 พันล.วูบ “วอลล์สตรีท” ดัน 3 แพลตฟอร์มกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดรวมสอนภาษาอังกฤษ 3.5 พันล้านบาท เจอโควิดฟาด หลายแบรนด์ชะลอขยายสาขา ด้าน “วอลล์สตรีท” ลุยใหม่ปีนี้ หลังปีที่แล้วยอดขายตก 30% ยอดคนสมัครเรียนตกลง 25% ผุด 3 แพลตฟอร์มดึงลูกค้า หวังดันปีนี้กู้ยอดคืนเติบโต 40%

นายโอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรวมสถาบันสอนภาษาอังกฤษในปีที่แล้ว (2563) คาดว่าตลาดรวมตกลงไปมาก จากมูลค่าตลาดเดิมเมื่อปี 2562 ที่มีประมาณ 3,500 ล้านบาท เนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก และภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี รวมทั้งผู้ประกอบการหลายรายต้องหายไปจากตลาด และบางรายก็ไม่มีการขยายสาขาเท่าใดนัก คาดว่าในปีนี้ตลาดรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง


ขณะที่วอลล์สตรีทเองได้รับผลกระทบ โดยปีที่แล้วจำนวนผู้ลงทเบียนเรียนลดลงไป 25% หรือมีประมาณ 7,500 คน ส่วนยอดขายรวมตกลงถึง 30% เหลือเพียง 400 กว่าล้านบาท จากเดิมมียอดขาย 600 กว่าล้านบาท โดยที่เราต้องปิดให้บริการในช่วงล็อกดาวน์ แม้จะมีการปรับกลยุทธ์ต่างๆ ก็ตาม ซึ่งก่อนที่จะมีโควิดในสถานการณ์ปกติ วอลล์สตรีทจะโตเฉลี่ย 5-10%

แต่ปีนี้ทางวอลล์สตรีทตั้งเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ 40% โดยได้มีการปรับกลยุทธ์โดยเฉพาะในช่องทางการเรียนการสอนเป็น 3 ช่องทาง ตามสถานการณ์ คือ 1. ทางสาขาที่มีจำนวน 15 แห่ง ที่ขณะนี้กลับมาเปิดบริการครบแล้ว สัดส่วนหลัก 90% 2. ช่องทางออนไลน์ ที่เพิ่งเริ่มปีที่แล้ว สัดส่วน 10% และ 3. ช่องทางออมนิแชนแนล ที่เพิ่งเริ่มเปิดบริการ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการเรียนที่สาขาจะเหลือ 60% และสัดส่วนออนไลน์จะเป็น 30% ส่วนออมนิแชนแนลจะเป็น 10% ซึ่งทุกแพลตฟอร์มจะเหมือนกันหมด เช่น การเรียนที่สาขาปกติครั้งละ 4 คน แต่ช่วงนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ราคาต่ำกว่าคือ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน ส่วนแพลตฟอร์มา 3,000 บาทต่อเดือน

ส่วนหลักสูตรก็จะมีหลากหลาย ตั้งแต่ 6 เดือน, 1 ปี, 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี ซึ่งในช่วงโควิดปีที่แล้วเป็นคอร์สสั้นๆ แค่ 1-3 เดือนพบว่าได้รับการตอบรับดี อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่เคยคิดที่จะมาเรียนสามารถเข้าถึงและลองเรียนได้บ้าง


จากข้อมูลที่รวมรวมมาพบว่า การขยายช่องทางใหม่แบบออนไลน์นี้นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกในช่วงโควิดระบาดแล้วยังสามารถทำให้สถาบันขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนทำงาน และเจ้าของกิจการได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งขณะนี้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา สัดส่วนหลัก 53%, กลุ่มคนทำงาน อายุ 23-29 ปี สัดส่วน 27% และ กลุุ่มเจ้าของกิจการ สัดส่วน 20% และยังขยายตลาดในกลุ่มต่างจังหวัดได้ด้วย เพราะสาขาที่มีอยู่ขณะนี้มากกว่า 12 แห่งกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ มีต่างจังหวัด3 แห่งเท่านั้น คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง

ส่วนแผนการขยายสาขานั้นจะมีต่อเนื่อง1-2 แห่งในปีนี้ รูปแบบแฟรนไชส์ที่ปัจจุบันมีแฟรนไชส์แห่งเดียวคือที่ขอนแก่น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นของบริษัท และล่าสุดยังได้เซ็นสัญญากับมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่กัมพูชาแล้วคาดว่าจะเปิดประมาณกลางปีนี้ ซึ่งเราได้สิทธิ์์ในตลาดประเทศไทย กัมพูชา และลาว

นายโอฬารกล่าวว่า จากการคาดการณ์ถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ภาษาอังกฤษยังคงมีความสำคัญ อันดับ 1-3 ที่ทุกคนต้องมี อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานและถูกเลิกจ้าง ในระบบราวเจ็ดแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขัน ซึ่งคนที่มีความพร้อมและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีจึงจะมีโอกาสสำเร็จได้มากกว่า อีกทั้งข้อมูลจากการสำรวจของอิงลิชเฟิร์สท เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก พบว่า เมือปี 2562 ประเทศไทนอยู่อันดับที่74 จากทั้งหมด100 ประเทศที่สำรวจ แต่มาปี 2563 ประเทศไทยตกมาอยู่อันดับที่ 89

“เราเชื่อว่าภาษาอังกฤษยังจำเป็นและมีความต้องการสำหรับคนทุกกลุ่ม คนที่กำลังเรียนการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษช่วยให้ตามความฝันเข้าคณะที่ต้องการได้ ส่วนคนที่ทำงานอยู่แล้วความสามารถด้านภาษาจะช่วยให้ก้าวไปถึงจุดที่ได้รับการโปรโมทงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้” นายโอฬารกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น