xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.คาดการใช้พลังงานขั้นต้นปี 64 โต 0.2-1.9% แต่น้ำมันยังดิ่ง 1.9-2.9% ผลจากโควิดรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนพ.ประเมินการใช้พลังงานขั้นตอนของไทยกรณีการระบาดโควิดรอบใหม่มากกว่า 1 ครั้งจะโต 0.2% แต่ครั้งเดียวโต 1.9% แต่การใช้น้ำมันสำเร็จรูปยังคงดิ่งลง 1.9 -2.9% เนื่องจากท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นยอดใช้น้ำมันเครื่องบินยังคงลดลง ขณะที่การใช้ไฟโต 2% ส่วนปีที่ผ่านมาการใช้น้ำมันลดลง 11.5% การใช้ไฟลด 2.9%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เปิดเผยว่า จากการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2564 จะขยายตัว 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 41-51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ย 30.3-31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวลดลง 4.9% และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นสนพ.จึงประมาณการความต้องการใช้พลังงานในปี 2564 ไว้ 2 กรณี คือ กรณีระบาดระลอกใหม่มากกว่า 1 ครั้ง และกรณีระบาดครั้งเดียว โดยการเติบโตจะเพิ่ม 0.2 ถึง 1.9% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 1,516-2,558 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

“กรณีระบาดมากกว่า 1 ครั้งก็จะเติบโตเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ครั้งเดียวจบก็จะโตได้ 1.9% ซึ่ง สนพ.เองคงจะต้องติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกันโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศต่อไปอย่างใกล้ชิด” นายวัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับการใช้พลังงานปี 2564 เพิ่มขึ้นทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลง 1.9 -2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสะท้อนตามเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้การใช้น้ำมันเครื่องบินจะลดลง 45.8-51.5% การใช้ LPG ในส่วนที่ไม่รวมการใช้เป็น Feed stocks ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะลดลง 0.7 -2.7% ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8-1.3% ส่วนการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 0.3-0.8% การใช้ LPG (โพรเพน และบิวเทน) ลดลง 1.0-5.5% โดยการใช้ในภาคครัวเรือนคาดว่าเพิ่มขึ้น 1.1-2.5% และภาคอุตสาหกรรมคาดว่าเพิ่มขึ้น 1.2-3.6% การใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลง 12.2-15.8%

การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 0.1-4.1% โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งคาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้ NGV เปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันยังคงไม่สูงมากนัก ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะมีการใช้ค่อนข้างทรงตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1-0.4% ส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 5% จากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ และการใช้ไฟฟ้าปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 191,029 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 2% และไฟฟ้านำเข้าคาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 0.1%

สำหรับการใช้พลังงานปี 2563 การใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 11.5% โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 2.6% ซึ่งมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงต้นปี ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปลายปี การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลดลง 1.2% จากมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด การใช้น้ำมันเครื่องบินลดลง 61.8% เนื่องจากมาตรการระงับการบินจากต่างประเทศและลดการบินในประเทศ

ขณะที่การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่งลดลง 26.3% การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลดลง 17.7% การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 7.9% และภาคครัวเรือนลด 4.5% การใช้ก๊าซธรรมชาติลดลง 8.2% โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าลดลง 2.9% โดยลดลงเกือบทุกสาขา โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและไนต์คลับ ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock Down
กำลังโหลดความคิดเห็น