จับตาราคา LNG ตลาดโลกพุ่งกระฉูดหลังอากาศหนาวจัดทั่วโลก ประกอบกับญี่ปุ่นปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อนหน้าทำให้ต้องผลิตไฟจาก LNG เพิ่ม “กกพ.” เกาะติดยืนยันแม้ราคาพุ่งแต่จะกระทบค่าไฟไม่มากเพราะมีสัดส่วนแค่ 10% ด้านสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยลั่นเทรนด์อีวีจะมาแรงต่อเนื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า จากสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติในปี 2564 โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเป็นประเทศหลักในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประกอบกับการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องผลิตไฟฟ้าจาก LNG ในสัดส่วนที่มากขึ้น และคลังสำรอง LNG ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจนโรงไฟฟ้าต้องหาซื้อ LNG เข้ามาอย่างเร่งด่วน จึงทำให้ภาพรวมราคา LNG ตลาดโลกขยับสูงเพิ่มขึ้นถึง 16 เท่าภายใน 6 เดือน ราคาตลาดจร (สปอต) สัปดาห์ที่แล้วสูงกว่า 32 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู และล่าสุดเคลื่อนไหวที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่การนำเข้า LNG ของไทยมีสัดส่วนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพียง 10-20% ซึ่งแม้ว่าจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าบ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก เพราะปัจจุบันนี้ ปตท.มีสัญญาระยะยาวเป็นหลัก ราคาต่ำกว่าราคาตลาดจร นอกจากนี้ เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซฯ อ่าวไทย และนำเข้ามาจากเมียนมา ซึ่งเป็นราคาผันตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สำนักงาน กกพ.ได้ออกประกาศกำกับอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคม 2563 แล้ว โดยการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้สถานีชาร์จเป็นอัตราขายส่งอยู่ที่ 2.63 บาท/หน่วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เป็นอัตราชั่วคราวที่ทดลองใช้ 2 ปี (2563-2564) จากนั้น กกพ.จะนำข้อมูลมาศึกษาอัตราที่เหมาะสมใหม่ ก่อนจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และแยกอัตราค่าไฟฟ้าอีวี ให้ชัดเจนต่อไป ดังนั้น จึงคาดว่าในปีนี้การจำหน่ายไฟฟ้าอีวีเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นได้จริง เหมาะสมกับกระแสรถอีวีที่กำลังมาแรง
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นคอขวดสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยให้เติบโตได้ดีคือ สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ที่ต้องมีเพียงพอในการสร้างแรงจูงใจในการใช้รถอีวี ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เคยเสนอรัฐแล้วให้มีการพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น
“ขณะนี้มีปั๊มสำหรับรถอีวีเพียง 1,800 หัวจ่ายที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนลงทุนซึ่งยังไม่พอต่อความต้องการ เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งขยายเพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถอีวีมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเห็นแล้วว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายยกเลิกรถที่ใช้น้ำมันฟอสซิล แต่ของไทยเองไม่ต้องถึงขนาดนั้นต้องแบนขอเพียงให้มีการขับเคลื่อนชัดเจนตามเป้าหมายที่ไทยวางไว้จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2570 ซึ่งระหว่างทางนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคาดว่าปี 2564 แนวโน้มรถอีวีในไทยจะยังเติบโตแบบก้าวกระโดด” นายกฤษฎากล่าว