xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แนะผู้ส่งออกศึกษาโมเดลใหม่ ดันสินค้า “ยางพารา” เจาะตลาดจีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกศึกษาโมเดลใหม่ ผลักดันสินค้า “ยางพารา” เจาะตลาดจีน หลังรัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปลอดภาษีที่ท่าเรือแล้วเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้เลย เผยมี 2 รูปแบบที่ทำได้ ฝากสินค้าไว้จำหน่าย หรือจัดงานแสดงสินค้าขนาดย่อม

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้าหาช่องทางใหม่ๆ ในการขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้ายางพาราของไทย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดพบการซื้อขายสินค้ายางพารารูปแบบใหม่ในตลาดจีน ที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้นำเข้าจีนจะติดต่อกับผู้ส่งออกโดยตรงและสั่งซื้อเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แล้วจึงทำการขนส่งและส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือของจีน เปลี่ยนเป็นรัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ณ บริเวณท่าเรือของจีน แล้วให้ผู้นำเข้าจีนได้เลือกซื้อยางพาราจากเขตปลอดภาษีได้เลย ซึ่งจุดจำหน่ายและจุดรับสินค้าดังกล่าวเป็นจุดเดียวกัน โดยวิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวกและได้รับความนิยมจากผู้นำเข้าจีนสูงเนื่องจากผู้นำเข้าจีนจะได้เห็นสินค้าทันที มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของสินค้า และได้รับสินค้าในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น จึงเป็นการดีที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวในการทำการค้าให้เท่าทันกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้นำเข้าจีน

สำหรับการจำหน่ายสินค้ายางพาราในเขตปลอดภาษี มีแนวทางการดำเนินการด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ 1. ผู้ส่งออกฝากยางพาราไว้จำหน่าย ณ คลังสินค้า ซึ่งอาจจะดำเนินการโดยผู้ส่งออกโดยตรง หรือตัวแทนบุคคลที่ 3 (Third Party) ที่ทำหน้าที่จัดการแทนผู้ส่งออก 2. ผู้ส่งออกจัดแสดงสินค้ายางพาราขนาดย่อม (Mini Exhibition) ณ คลังสินค้าร่วมกับผู้ให้บริการคลังสินค้า เพื่อดึงดูดผู้นำเข้ายางพาราในพื้นที่ให้เข้ามาเลือกซื้อ และสอบถามข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเป็นการดำเนินงาน ณ คลังสินค้าในเขตปลอดภาษีบริเวณท่าเรือ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลา และปริมาณของสินค้าที่ต้องการส่งออก

“ขอให้ผู้ส่งออกที่ต้องการจะเจาะตลาดยางพาราในจีน ศึกษาการซื้อขายยางพารารูปแบบใหม่ แทนการซื้อขายแบบเดิมๆ เพราะจะเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้การซื้อขายยางพาราขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และทำให้ไทยส่งออกยางพาราเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น” นายสมเด็จกล่าว


ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว เร่งหาโอกาสและขยายช่องทางทางการค้าสินค้ายางพาราของไทยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง เป็นเมืองและมณฑลที่นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ายางพาราไปยังจีนมากที่สุด

โดยผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา สำนักงานฯ ณ เมืองชิงต่าว ได้เป็นตัวแทนไทยในฐานะเซลส์แมนประเทศ เข้าร่วมหารือกับหน่วยงานชั้นนำด้านการนำเข้ายางพารา ทั้งสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) มณฑลซานตง สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) เมืองจี่หนาน เมืองชิงต่าว เมืองรื่อจ้าว และเมืองตงหยิง สำนักงานการต่างประเทศเมืองรื่อจ้าว และบริษัทในเครือของ China Merchants Group (CMG) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน และเป็นผู้ให้บริการคลังสินค้าในเขตการค้าเสรีท่าเรือปลอดภาษีเฉียนวาน เมืองชิงต่าว ซึ่งถือเป็นท่าเรือปลอดภาษีที่มีการนำเข้ายางพาราในอันดับต้นๆ ของจีน เพื่อผลักดันการส่งออกยางพาราไทยเข้าสู่ตลาดจีน และรักษาตลาดส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของไทยไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน


น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดสินค้ายางพาราเข้าสู่ตลาดจีนตามโมเดลข้างต้น เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้ายางพาราไปยังแหล่งนำเข้ายางพาราที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลก สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาได้ที่เบอร์ +86-532-68621206 อีเมล qingdao@ditp.go.th และเฟซบุ๊กเพจ Insight CHINA : โอกาสสู่ตลาดจีน by สคต.ชิงต่าว

สำหรับช่องทางการผลักดันสินค้ายางพาราไทยเข้าสู่ตลาดจีน สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการติดตามและมีแผนยกระดับความร่วมมือในการจำหน่ายสินค้ายางพาราผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับศูนย์การค้าสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองรื่อจ้าว หรือ Rizhao Bulk Commodity Trading Center ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนในการค้าขายยางพาราในรูปแบบออนไลน์ ที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้กับสินค้ายางพาราไทยสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น