xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องลึก “กลุ่มซีพี” ทุ่ม 15,000 ล้านเข้าซื้อหุ้น Sinovac

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยามทั่วโลกรอคอยวัคซีน ซีพีมองการณ์ไกลเข้าซื้อหุ้น Sinovac Life Sciences บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 CoronaVac จากประเทศจีน สร้างโอกาสเข้าถึงยาให้ประชากรโลก ตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนสหประชาชาติด้านสุขภาพประชากรโลกกว่า 300 ล้านคน

กว่า 20 ปี กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ซีพี ไซโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้านเสริมแกร่งซิโนแวค 15% ขยายการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 กว่า 600 ล้านโดสต่อปี เพิ่มโอกาสเข้าถึงวัคซีนของคนทั่วโลก

ในช่วงกระแสโควิดระบาดในระลอกที่สอง ทำให้คนไทยกลับมาให้ความสนใจกับเรื่องของวัคซีน โดยกระแสที่มีการพูดถึงกันมากเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 หลังสำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า บริษัท ไซโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ธุรกิจเวชภัณฑ์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ของบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ทุ่มเงิน 515 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น 15% ของซิโนแวค ไลฟ์ไซแอนส์ บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้หลายคนสงสัยว่ากลุ่มซีพีมีธุรกิจเวชภัณฑ์ด้วยหรือ และทำไมถึงเลือกลงทุนในบริษัทซิโนแวคที่ผลิตวัคซีนโควิด โดยอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ากลุ่มซีพีเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ โดยบริษัท ไซโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2000 และครอบคลุมงานวิจัยด้านสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะศักยภาพที่โดดเด่นในด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ และยาเคมีสำหรับการรักษาโรคตับเนื้องอก โรคหัวใจและสมอง โรคเกี่ยวกับกระดูก โรคระบบย่อยอาหาร การติดเชื้อและโรคระบบทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ กลุ่มซิโนฟาร์มานั้นเป็นลักษณะของบริษัทที่ลงทุนในบริษัทด้านวิจัยและพัฒนายาและเวชภัณฑ์อยู่แล้ว โดยมีบริษัทที่อยู่ในเครือมากกว่า 30 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายยามานานแล้ว

การระดมทุนเพิ่มในครั้งนี้ ซิโนแวคระบุว่า จากเดิมสามารถผลิตวัคซีนได้ปีละ 300 ล้านโดส หากสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 600 ล้านโดส เพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชากรโลก โดยปัจจุบันโคโรนาแวคเป็นวัคซีนทดลอง 1 ใน 3 ตัวของจีนที่ฉีดให้ประชาชนราว 1 ล้านคนตามโครงการเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิต ซึ่งหากดูจากยอดการผลิต 600 ล้านโดสต่อปีกระจายไปทั่วโลก กับยอดการสั่งซื้อ 2 ล้านโดสของประเทศไทย เทียบได้กับ 0.33% ของกำลังการผลิต คงไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ซีพีไปลงทุนในครั้งนี้ แต่รายงานจากซิโนแวคระบุว่า ปัจจัยหลักเป็นการขยายการเข้าถึงวัคซีนของประชากรโลก

ปัจจุบันซิโนแวคทำสัญญาจัดหาวัคซีนโคโรนาแวคให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล ชิลี และกำลังเจรจากับฟิลิปปินส์ ซึ่งหากพูดถึงกำลังการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี จะเท่ากับครอบคลุมประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือเท่ากับประมาณ 3.94% ของประชากรโลกเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของทุกประเทศในโลกในการขยายการผลิต การสร้างโอกาสในการเข้าถึงยาและวัคซีน และถือเป็นเรื่องของสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต เพื่อตอบเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติในด้านสุขภาพ (Health & Well Being) อีกด้วย

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่าวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดสจะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการสั่งจองซื้อวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสจากบริษัท Astra Zeneca คาดว่าล็อตแรกจะนำเข้ามาได้เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณกลางปี 2564 จำนวน 26 ล้านโดสไปแล้ว และวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเติมจัดหาซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อคุ้มครองคนไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่ารวมแล้วไทยจะมีวัคซีนจากประเทศอังกฤษ 61 ล้านโดสให้ประชาชน และมีวัคซีนที่จองซื้อจากซิโนแวคจากประเทศจีนเพียงแค่ 2 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่เลือกสองรายนี้เพราะวัคซีนสามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การซื้อวัคซีนประเทศไทยต้องต่อคิวเพราะทั่วโลกขาดแคลน ดังนั้น การจองซื้อล่วงหน้าถือเป็นเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน

บนเส้นทางธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพีกว่า 20 ปี อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างในประเทศไทย เพราะเมื่อพูดถึงกลุ่มซีพีอาจทำให้นึกนึกกลุ่มธุรกิจเกษตร หรือไม่ก็เซเว่น อีเลฟเว่น แต่ข้อเท็จจริงเครือซีพีถือเป็นบริษัทไทยที่ก้าวสู่การเป็นบริษัทระดับโลกไปแล้ว โดยรายได้มากกว่าครึ่งก็มาจากตลาดในต่างประเทศที่ผ่านซีพี กรุ๊ป มีการลงทุนใน 22 ประเทศทั่วโลก บริษัทในเครือทำธุรกิจครอบคลุมหลากหลายสาขา ครอบคลุม 8 กลุ่มธุรกิจ แต่ที่คนไทยคุ้นเคยแค่ 3 ธุรกิจเสาหลัก คือ ซีพี ฟู้ดส์ ดูแลธุรกิจด้านอาหารครอบคลุมธุรกิจเกษตร ธุรกิจฟาร์มเลี้ยง ไปจนถึงอาหารแปรรูปพร้อมบริโภค ซีพีออลล์ ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 และทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของไทย

กลุ่มซีพียังมีธุรกิจอื่นในต่างประเทศอีกมากมาย เช่น กลุ่มเวชภัณฑ์ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจของไซโน ไบโอฟาร์มา ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2000 หรือประมาณ 22 ปีมาแล้ว และที่ติดอันดับท็อป 50 บริษัทในธุรกิจยาของโลก ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Pharm Exe ของสหรัฐอเมริกาในปี 2019 นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์บส์ Forbes ให้เป็นสุดยอด 100 บริษัทในเอเชียอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพี

ทั้งนี้ บริษัทไซโน ไบโอฟาร์มาทำรายได้ในปี 2019 สูงถึง 4,200 ล้านหยวน หรือ 112,000 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทชิโนแวคถือเป็นการลงทุนปกติของกลุ่มซิโน ไบโอฟาร์มาเองที่ดำเนินการเป็นประจำในอุตสาหกรรมยาที่ต้องเน้นการลงทุนในบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีทั่วโลก และถือว่าการลงทุน 515 ล้านดอลลาร์ในครั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้สองเท่า โดยการลงทุนครั้งนี้ทำให้ไซโน ไบโอฟาร์มาซูติคอลมีหุ้นส่วนน้อยเพียง 15.03% ในซิโนแวคไลฟ์ไซน์ส และดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีนโคโรนาแวค และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 เป็นไปด้วยดี ทำให้การลงทุนเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น