xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” กระทบเดินทางปีใหม่ 64 ลด ใช้รถโดยสารต่ำเป้ากว่า 40%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคมเผยประชาชนเดินทางปีใหม่ลดลง ช่วง 5 วัน (29 ธ.ค. 63 - 2 ม.ค. 64) ใช้รถโดยสารสาธารณะ 6 ล้านคน ต่ำกว่าคาด 40.18% ส่วนรถยนต์เข้าออกกรุงเทพฯ กว่า 9 ล้านคัน ต่ำกว่าคาด 24.14% ขณะที่อุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนคมนาคม มี 1,262 ครั้ง เสียชีวิต 195 ราย บาดเจ็บ 1,309 ราย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 2 มกราคม 2564 (ข้อมูลวันที่ 3 มกราคม 2564 เวลา 08.30 น.) พบว่า มีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะกว่า 6 ล้านคน ต่ำกว่าประมาณการ 40.18% ปริมาณการจราจรเข้าออกกรุงเทพฯ กว่า 9 ล้านคัน ต่ำกว่าประมาณการ 24.14%

ทั้งนี้ พบว่าจำนวนอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงมากกว่า 5% โดยเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม 1,262 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 195 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1,309 ราย สาเหตุหลักของอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

โดยกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 อย่างมีความสุข สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย “คมนาคมใส่ใจกำลังสาม เดินทางอุ่นใจตลอดปีใหม่” โดยขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจร วางแผนการเดินทางล่วงหน้า รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

โดยข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 2 มกราคม 2564 (ข้อมูลวันที่ 3 มกราคม 2564 เวลา 08.30 น.) สรุปได้ดังนี้

1. การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 6,946,426 คน/เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 40.18% โดยมีปริมาณการจราจรเข้าออกกรุงเทพฯ 9,538,928 คัน ต่ำกว่าประมาณการ 24.14% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 9,085,789 คัน คิดเป็น 95.25% ของปริมาณการจราจรเข้า – ออกกรุงเทพฯ ทั้งหมด

2. การตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจความพร้อม 206 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มตรวจฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 จำนวน 52,126 คัน พบข้อบกพร่องและสั่งให้เปลี่ยนรถ จำนวน 1 คัน ส่วนท่าเรือ/แพ จำนวน 173 แห่ง ไม่พบข้อบกพร่อง และได้พ่นห้ามใช้เรือ จำนวน 1 ลำ ด้านการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่รถไฟ รถไฟฟ้า และผู้ประจำเรือ ไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด

3. สถานการณ์อุบัติเหตุ เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม 1,262 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 195 ราย บาดเจ็บ 1,309 ราย บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง คิดเป็น 71.63% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็น 62.20% รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 52.30% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ สุพรรณบุรี จำนวน 47 ครั้ง รองลงมาคือ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ อุดรธานี และนครราชสีมา

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดทั้งการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้โดยสารไม่ให้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควบคุมการสวมหน้ากากอนามัย ให้ผู้ใช้บริการสแกนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ให้บริการ โดยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสอบถามข้อมูลด้านการเดินทาง แจ้งเหตุหรือข้อร้องเรียน ได้ที่

- ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356
- ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584
- ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง โทร. 1586
- ศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท โทร. 1146
- ศูนย์รัชดา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โทร. 1348
- บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490
- ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทร. 1543
- สายด่วนกรมเจ้าท่า โทร. 1199
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) : AOT Contact Center โทร. 1722
- ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โทร. 0-2286-0506








กำลังโหลดความคิดเห็น