ผู้จัดการรายวัน 360 - “แม่ไก่กรุ๊ป” ปรับกลยุทธ์สู้หลังโควิดกระทบใส่ ยอดขายไส้กรอกอีสานร่วงหนักสุดรอบ 14 ปี ลงกว่า 40% จากยอดขายวันละ 10 ตัน เปิดโมเดลใหม่สู้ขายแฟรนไชส์ “ตลาดนัด 20-ร้านแม่ไก่ค้าส่ง” พร้อมรับ OEM ดันยอดปีหน้าสู่ 2,000 ล้านบาท จากแค่ 300 ล้านบาทปีที่แล้ว
นางกรรณิการ์ สิริทรัพย์เพิ่มโชค ประธานกลุ่มแม่ไก่ ผู้ผลิตและจำหน่าย “ไส้กรอกอีสานแม่ไก่” รายใหญ่ ที่มีกำลังผลิตป้อนสู่ตลาดวันละ 10 ตัน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักทั่วโลกและในไทยด้วยตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับบนหรือระดับล่าง เดือดร้อนไปหมด โดยเฉพาะในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของธรรมดาก็ลำบากเพราะขายของได้น้อยกว่าเดิม คนทำงานระดับล่างกำลังซื้อลดลง คนตกงานกันมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเข้ามาตอบสนองกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ด้วยการเปิดโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้
“ภาพรวมตลาดไม่ค่อยดี เราดูจากยอดขายไส้กรอกอีสานของเราเองที่ทำขายให้กับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยรถเข็นต่างๆ ที่นำไปขายต่อก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ยอดขายตกลงหายไปมากกว่า 40% ถือเป็นจำนวนที่มาก ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย เพราะโควิดเป็นปัจจัยลบหลักก็ว่าได้ ในรอบ 14 ปีที่เราผลิตขายมา โดยที่ผ่านมาเรามียอดผลิตจัดส่งไส้กรอกอีสานเฉลี่ยวันละ 10 ตันให้กับผู้ขายมากกว่า 1,000 รายที่รับสินค้าจากเรา” นางกรรณิการ์ กล่าว
โดยธุรกิจใหม่ล่าสุด คือ การเปิดตัว “ร้านตลาดนัด 20 บาท” เป็นธุรกิจร้านค้าปลีกพวกวัตถุดิบสดทำอาหาร เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนระดับล่างเพื่อซื้อนำไปปรุงอาหารทานที่บ้าน เบื้องต้นมีสินค้ารวมมากกว่า 200 เอสเคยู เน้นไปที่การทำอาหารแบบชาบูกับหมูกระทะ เช่น ปลาหมึก ไก่ หมู ผัก เป็นต้น ขายราคา 20 บาทต่อแพก และปลายปีนี้จะเพิ่มหมวดซูชิ ซึ่งการที่ขายราคาต่ำ เนื่องจากเรามีพันธมิตรที่จัดส่งวัตถุดิบให้และเราซื้อในปริมาณที่มาก แล้วนำมารีแพกขายอีกทอด
โดยบริษัทฯ เริ่มลงทุนเปิดเองก่อนสาขาแรกที่บางแค เป็นโมเดลต้นแบบที่จะขายแฟรนไชส์ต่อไป จากการศึกษาจะคืนทุนภายในปีครึ่งหรือมียอดขายประมาณ 3 ล้านบาท/เดือน/สาขา มีผลกำไร 25%” มีแฟรนไชส์ 2 รูปแบบ คือ 1. เปิดเป็นร้านตลาดนัด 20 บาท ลงทุน 490,000 บาท ไม่คิดค่าการตลาดจนกว่าจะมีกำไรจากการจำหน่าย ตั้งเป้าจะมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ประมาณ 30 รายในปี 2564 และ 2. แบบเป็นตู้แช่ ลงทุน 89,000 บาท โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ไว้จำนวน 400 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้เน้นตลาดกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักก่อน เบื้องต้นนี้มีผู้สนใจแล้วกว่า 200 ราย
2. ร้านแม่ไก่ค้าส่ง เป็นโมเดลตึกแถว 2 คูหา มีประมาณวางได้ประมาณ 10 ตู้แช่อาหาร เป็นวัตถุดิบอาหารเป์นแพกเช่นกันแต่จะมีปริมาณที่มากกว่า เจาะลูกค้าที่ซื้อไปจำหน่ายต่อ เช่นรถเข็น ร้านค้ารายย่อย เช่น หมูปิ้ง ไส้อั่ว ไส้กรอกอีสาน ลูกชิ้น ปูอัด เบคอน ปลาทิพย์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ เปิดเองจำนวน 3 สาขาแล้วที่บางแค ที่สี่มุมเมือง และที่อุดรธานี โดยในเบื้องต้นจะมีตัวแทนจำหน่ายแบบดั้งเดิมปรับมาเป็นร้านแม่ไก่ค้าส่งประมาณ 10 รายที่เป็นตัวแทนในต่างจังหวัดที่มีทั้งหมด 21 รายใน 44 จังหวัด และยังมีผู้สนในซื้อแฟรนไชส์อีก 7 ราย แผนระยะยาวจะขยายให้ครบทุกจังหวัด และตลาด CLMV ด้วย เงื่อนไขแฟรนไชส์ คือ ลงทุนประมาณ 490,000 บาท สัญญา 1 ปี โดยดูแลทั้งจังหวัด มีกำไรต่อหน่วยประมาณ 15%-20%
นอกจากนี้ยังขยายสู่การเป็นโออีเอ็ม หรือรับจ้างผลิตอาหารให้ด้วย หรือคลาวด์ ฟูลฟิลเมนต์ (Cloud Fullfillment) ให้แก่ผู้สนใจ เช่น การทำอาหารกล่องให้กับ หมูทอดเจ๊จง เพื่อส่งร้านค้าปลีก เช่น แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ในปั๊ม ปตท. และปีหน้าจะเริ่มทำส่งอีกประมาณ 3,600 กล่องต่อวัน ส่งสาขาละ 50 กล่อง นอกจากนั้นยังจัดหาวัตถุดิบให้กับร้านโลโซโตเกียวที่มีสาขากระจายอยู่ตามตลาดนัดและยานชุมชน
นางกรรณิการ์กล่าวด้วยว่า ปีนี้ยังเป็นปีที่เราลงทุนมากอีกปีหนึ่งประมาณ 20-30 ล้านบาท แต่ยังน้อยกว่าช่วงปี 2557 ลงทุนมากสุด คือ 200 ล้านบาทในการสร้างโรงงานใหม่ที่บางเลน พื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งปีนี้ต้องลงทุนเพิ่มอีกก็เพื่อขยายธุรกิจใหม่ที่ต้องใช้เงินทุน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ของแม่ไก่กรุ๊ปทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปีหน้า จากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนปีนี้ยอดขายคงทรงๆ เพราะโควิด