การบินไทยเลื่อนยื่นแผนฟื้นฟู 1 เดือน เผยเจรจาเจ้าหนี้ยังไม่ยุติ ขยับยื่นศาล 2 ก.พ. 64 ตั้งเป้า ศาลอนุมัติแผน เม.ย.-พ.ค. 64 พร้อมวางแผนบินไตรมาส 1/64 ไปยัง 10 เมือง ดันปี 68 รายได้ฟื้น 1.25 แสน ล.“ชาญศิลป์” เผยดิ้นทุกทาง หารายได้ช่วยสภาพคล่อง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งมีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และการกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ทั้งลดหนี้ยืดหนี้ ส่วนผู้ถือหุ้น อาจจะเป็นการลดทุน ซึ่งอยู่ในกระบวนการเจรจา ให้มีความสมบูรณ์เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปและยื่นแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 2 ก.พ. 2564 ซึ่งในสัปดาห์หน้า บริษัทฯ จะยื่นศาลเพื่อขอขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมกำหนดจะยื่นแผนฟื้นฟู วันที่ 2 ม.ค. 2564
และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟู ในช่วงกลางหรือปลายเดือน มี.ค. 64 และศาลล้มละลายกลางประชุมเพื่อรับแผน ใน เม.ย.-พ.ค. 64 จากนั้นจะเข้าสู่การปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู
ซึ่งตามกฎหมาย มีระยะเวลาในการดำเนินการแผนฟื้นฟู 5 ปี และขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี หรือรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7 ปี
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในระหว่างทำแผนฟื้นฟู บริษัทได้ทำแผนด้านธุรกิจอื่นๆ ควบคู่ ไปด้วย ทั้งแผนการบิน การปรับโครงสร้างองค์กร และบริษัทได้พยายามในการสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ในช่วงที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ โดยนำทรัพยากรที่มีออกมาหารายได้ เป็นการดิ้นรนทุกวิถีทาง ซึ่งการประมาณการรายได้ต่างๆ ทำค่อนข้างยาก เนื่องจากมีปัจจัยโควิด-19 ระลอกใหม่ และเชื่อว่า บริษัทจะสามารถปรับตัวได้ และคาดว่า ในไตรมาส 3-4/64 วัคซีนจะเข้ามา ซึ่งบริษัทพร้อมทำหน้าที่ในการขนส่งวัคซีน
นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทในเครือ เช่น ไทยสมายล์, บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด, บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด, บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด, บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น จะมีหน่วยแผนกลยุทธ์องค์กร พิจารณาการดำเนินธุรกิจ ว่า จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในรูปแบบอย่างไร หรือจะมีการร่วมมือกันอย่างไร ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบแรกคลี่คลายลง ทำให้บริการเที่ยวบินในประเทศของการบินไทยกลับคืนมาราว 60-70% แต่ขณะนี้มีการระบาดรอบใหม่ทำให้หายไปอีก 10%”
@ คาดไตรมาส 1/64 เปิดบิน 10 เมือง ตั้งเป้าปี 68 รายได้ฟื้น 1.25 แสน ล.
นายนนท์ กลินทะ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์การบิน กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมาย ในปี 68 จะลดค่าใช้จ่ายลง 35% คาดว่า รายได้จะฟื้นขึ้นมาที่ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าช่วงปี 62 ประมาณ 29% ขณะที่จะมีการปรับลดฝูงบินอย่างต่อเนื่องเหลือสูงสุด 75 ลำ หรือลดฝูงบินลงจากปัจจุบัน 26% และจะทำการบินประมาณ 75-80 เมือง โดยคาดว่ามีกำไร 140%
สำหรับแผนการบินในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 64 การบินไทยจะทำการบินไปยัง 10 เมืองหลัง จำนวน 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ได้แก่ ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเกน, โตเกียว, โอซากะ, โซล, ฮ่องกง, ไทเป, มะนิลา, ซิดนีย์
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน กล่าวว่า ในช่วงโควิด การบินหยุดชะงักบ้าง แต่หน่วยธุรกิจ ทั้งบริการลูกค้าภาคพื้น, บริษัทอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายการพาณิชย์และไปรษณีย์ภัณฑ์ ยังคงช่วยขับเคลื่อน โดยการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ที่เคยมีรายได้ประมาณ 30% ของรายได้ผู้โดยสาร ในปี 63 ขนส่งปริมาณ 160,000 ตัน หรือเฉลี่ย 6,000 ตันต่อเดือน เป็นไปตามระวางขนส่งที่จำกัด โดยทำการบินคาร์โก้ไปยัง 17 เมือง
โดยรายได้รวมของหน่วยธุรกิจ ช่วง ม.ค.-มี.ค. 63 ก่อนโควิด มีจำนวน 8,675 ล้านบาท คาดช่วง เม.ย.-ธ.ค. 63 ที่ 5,204 ล้านบาท รวมทั้งปีจำนวน 13,879 ล้านบาท
นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า ขณะนี้ รายได้ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ มี.ค. 63 โดยจากเดิมมีรายได้ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท/เดือน ลดลงมาปัจจุบันไม่ถึง 1 พันล้านบาท/เดือน อย่างไรก็ดี จะพยายามรักษากระแสเงินสดไว้ให้นานที่สุด โดยประเมินว่าจะมีกระแสเงินสดพอใช้ได้ถึงเดือน พ.ค. 64
นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง กล่าวว่า เป้าหมายบริษัท จะลดต้นทุน 30% ดังนั้น ฝ่ายช่างต้องลดลง 30% ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้าง ปรับกระบวนการทำงานให้กระชับและนำจุดแข็งมาสร้างรายได้ เช่น ศูนย์ซ่อม MRO และทำสัญญาด้านซ่อมบำรุงประมาณ 30% กรณีใช้อะไหล่ของผู้ผลิต ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา