อีกไม่นานจะได้ใช้มอเตอร์เวย์ และทางด่วนที่ไม่มีไม้กั้นหรือ M-Flow กันแล้ว แม้จะมีเสียงบ่นในครั้งแรก ที่ได้ยินนโยบายของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นำระบบการให้บริการ “มอเตอร์เวย์” และ “ทางด่วน” แบบไม่มีไม้กั้น Multi-lane Free Flow หรือ M-Flow มาใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ และทางด่วน ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาจะช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปด้วยนั้น ถึงวันนี้เริ่มมีเสียงประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้ขาประจำไม่น้อย ที่รอว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้งานจริงๆ ซะที
ล่าสุด รมว.คมนาคมได้ประชุมเพื่อติดตามอัปเดตความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของกรมทางหลวง ซึ่งได้เริ่มงานติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow ไปแล้ว โดยจะนำร่องบนถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกจำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิกระบบ M-Flow ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และผ่านเว็บไซต์ของ ทล.ได้ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 เป็นการการันตีว่ามีของใหม่ให้ใช้แน่นอน
ในช่วงทดลองระบบนั้นจะเป็นการทดสอบระบบเสมือนจริงประมาณกลางเดือน ม.ค. 2564 ทั้งนี้ เพื่อเช็กความพร้อมทั้งในส่วนของผู้ลงทะเบียน และความพร้อมในการทำงานของระบบหลังบ้านทั้งหมดว่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลกันถูกต้องหรือไม่
“คาดว่าจะเริ่มมีการทดสอบระบบประมาณ 1 เดือน ซึ่งในช่วงทดลองระบบนั้นประชาชนที่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก M-Flow แล้ว เมื่อเข้าใช้มอเตอร์เวย์สาย 9 ระบบกล้องจะมีการตรวจบันทึกป้ายทะเบียนรถแล้วจะแจ้งเตือนข้อมูลการใช้เข้าไปในมือถือของสมาชิก แต่จะยังไม่มีการเก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้ทาง โดยยังคงให้ชำระค่าผ่านทางตามวิธีเดิม คือ จ่ายเงินสด หรือผ่านบัตร M-Pass หรือ Easy Pass”
@ช่องทางชำระเงินหลากหลาย สะดวก... รวดเร็ว
“ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล” ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า หลังทดสอบระบบประมาณ 1 เดือนแล้วจะเข้าสู่ช่วงแรกในการใช้งานระบบ M-Flow คาดว่าจะประมาณปลายเดือน ก.พ. 2564
โดยจะเปิดให้ชำระค่าผ่านทางได้หลายช่องทาง ทั้งหักผ่านบัญชีธนาคาร สแกนคิวอาร์โค้ด บัตรเครดิต และเดบิต หักผ่านบัตร M-Pass หรือ Easy Pass จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือชำระตามรอบบิล ซึ่งสามารถตรวจสอบการใช้งานผ่านแอปฯ หรือเว็บไซต์ได้
ส่วนบริเวณด่านที่จะให้บริการระบบ M-Flow นั้นจะยกไม้กั้นออกและมีการแบ่งช่องทางให้ชัดเจน สำหรับรถใช้ระบบ M-Flow เพื่อให้สามารถวิ่งผ่านไปได้โดยไม่ต้องชะลอ
ส่วนรถที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก จะแบ่งช่องทางทางด้านซ้ายของด่านส่วนหนึ่งไว้ให้วิ่งผ่าน โดยยังให้ชำระค่าผ่านทางในรูปแบบเดิมได้ คือ เงินสด, บัตร M-Pass, Easy Pass
ทั้งนี้ ตามแผนงานจะส่งเสริมให้ประชาชนโหลดแอปฯ และลงทะเบียนเป็นสมาชิก เพื่อระบุตัวตนผูกกับระบบ M-Flow ให้มากที่สุด โดยจะใช้เวลาในการประเมินผลประมาณ 5-6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคในทุกด้าน ทั้งความเสถียรของระบบ การชำระเงิน
อนึ่ง ปลัดคมนาคมให้แนวคิดต่อกรมทางหลวงในการตั้ง KPI เพื่อประเมินผลการใช้งาน เพื่อประกอบการพิจารณาเดินหน้าขยายการใช้งานในระยะต่อไป เนื่องจากคาดว่าอาจจะมีโอกาสที่รถยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเข้าไปใช้ระบบ M-Flow ดังนั้น จะต้องประเมินว่าระบบการตรวจสอบและติดตามจะสามารถรองรับได้แค่ไหน โดยเบื้องต้นออกแบบระบบให้ค้างชำระค่าผ่านทางได้ 2 วัน
@ทล.ทุ่มกว่า 340 ล้าน “ติดตั้งระบบ-ถอดไม้กั้น-จ้าง Outsource บริหารจัดการ”
กรมทางหลวงจะมีการลงทุน 4 ส่วน ได้แก่
1. ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow (M-Flow System Infrastructure) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงเงินประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งจะเป็น Back Office ระบบหลัก โดยผู้รับจ้างเริ่มงานมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งคาดว่าจะพร้อมสำหรับการเปิดให้ประชาชนโหลดแอปฯ และลงทะเบียนเป็นสมาชิกในปลายเดือน ธ.ค.นี้
2. ติดตั้งระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ และจ้างบริหารจัดการระบบ วงเงิน 120 ล้านบาท ซึ่งประมูลจัดซื้อจัดจ้างแล้ว อยู่ระหว่างที่อัยการตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้
ซึ่งจะเป็นการจ้าง Outsource สัญญาปีต่อปี ดำเนินการติดตั้งกล้องจับป้ายทะเบียน ติดระบบเซ็นเซอร์ ที่ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 พร้อมจ้างบริหารจัดการระบบ และมีหน้าที่ในการแจ้งบิลค่าผ่านทาง เรียกเก็บไปยังผู้ใช้ทาง ติดตามทวงหนี้หรือเป็น Customer Service ของระบบ M-Flow นั่นเอง
3. ติดตั้งโครงสร้างสำหรับติดตั้งกล้อง ระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ และติดป้ายข้อความ ที่ด่านเก็บเงินทับช้างและธัญบุรี วงเงิน 8.8 ล้านบาท
4. ปรับปรุงกายภาพช่องทางเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพื่อรองรับระบบ M-Flow วงเงิน 40 ล้านบาท เช่น แบ่งกั้นช่องจราจร รื้อไม้กั้นหน้าด่าน เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ปัจจุบันปริมาณจราจรบนมอเตอร์เวย์สาย 9 ผ่านทั้ง 4 ด่านมีเฉลี่ยประมาณ 250,000-3000,000 คันต่อวัน ซึ่งมีปัญหาการจราจรที่ด่านเก็บค่าผ่านทางอย่างมาก
ว่ากันว่า...การใช้เทคโนโลยี AI จัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติหรือ Automated License Plate Recognition ในการคิดค่าผ่านทางโดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ เป็นหลักการทำงานของ Video Tolling ภายใต้ความเร็วที่ 80 กม./ชม. จะรองรับรถได้ถึง 1,200 คัน/ชม. เปรียบเทียบกับช่องทางอัตโนมัติ (M Pass) ปัจจุบันรองรับได้ 500-800 คัน/ชม. ซึ่งเป้าหมายของระบบ M-FLOW จะให้รถวิ่งผ่านได้ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ประกาศใช้บนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ จะเพิ่มความเร็วรถผ่านหน้าด่านและรองรับรถได้ถึง 2,000-2,500 คัน/ช่องทาง หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า
@ ทางด่วน กทพ.นำร่องสายรามอินทรา-อาจณรงค์ กลางปี 64
สำหรับระบบ M-Flow ของทางด่วนนั้น กทพ.จะนำร่องที่ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จำนวน 2 ด่าน คือ ด่านสุขาภิบาล 5 และด่านลาดพร้าว ซึ่ง กทพ.จะลงทุนเพื่อดำเนินงานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow) หรือ M-Flow ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) จำนวน 38 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในส่วนของโครงสร้างและระบบซอฟต์แวร์ โดยจะเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบของกรมทางหลวงที่จะใช้ดำเนินการกับระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ โดย กทพ.จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ และคาดว่าจะเริ่มติดตั้งในเดือน ก.พ. 2564 ใช้เวลา 4 เดือน ให้บริการได้ในเดือน มิ.ย. 2564
และขยายแผนการพัฒนาและขยายการบริการไปยังทางด่วนสายอื่นๆ รวมถึงทางด่วนในสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อให้การบริการเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด
เบื้องต้น กทพ.มีแผนดำเนินงานบนทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 นำร่องใช้ ระบบ M-Flow ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 ที่ด่านสุขาภิบาล 5 และด่านลาดพร้าว ระยะที่ 2 ช่วง เดือน ม.ค. 2565 ขยายไปยังด่านที่เหลือทั้งหมด ระยะที่ 3 ประมาณกลางปี 2565 ขยายไปที่ทางพิเศษกาญจนาภิเษก หรือทางพิเศษศรีรัช และระยะที่ 4 จะใช้ได้ครอบคลุมโครงข่ายทางด่วนทั้งหมด
สำหรับการขยายระบบ M-Flow ไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพมหานคร-ชลบุรี-บ้านฉาง นั้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อรอให้การใช้งานบนมอเตอร์เวย์สาย 9 มีความเสถียร และแก้ปัญหาอุปสรรคได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของมอเตอร์เวย์สาย 7 ยังเป็นระบบปิด คือเก็บค่าผ่านทางตามจำนวนกิโลเมตรใช้จริง ซึ่งระบบจะมีความซับซ้อน ต่างจากมอเตอร์เวย์สาย 9 ที่เก็บค่าผ่านทางระบบเปิด
@ จ้าง Outsource บริหารระบบ “ส่องป้าย-แจ้งบิล-ทวงหนี้”
ทั้งนี้ การชำระเงินค่าผ่านทางที่มีทั้งแบบหักบัญชี หักบัตรเครดิต หรือจะเป็นระบบ postpaid คือ แบบใช้ก่อน...จ่ายทีหลัง หรือการแจ้งเป็นรอบบิล เหมือนบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ฯลฯ ซึ่ง ทล.จะจัดจ้างเอกชน (Outsource) ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบทั้งหมด ซึ่งบริษัท Outsource จะต้องแบกรับความเสี่ยงกรณีที่ยังไม่สามารถติดตามรถ หรือติดตามเก็บค่าผ่านทางได้ เพราะอาจจะมีรถสวมทะเบียน รถที่ถูกโจรกรรมมา หรือกรณีป้ายทะเบียนรถรางเลือนทำให้กล้องอาจจะจับภาพได้ไม่ชัดเจน ระบบตรวจทะเบียนคลาดเคลื่อนตามไปด้วย ... ปัญหามากมายที่มีโอกาสเกิดขึ้น
ขณะที่กรมทางหลวงและ กทพ.ในฐานะผู้กำกับจะต้องได้รับค่าผ่านทางครบ100% ดังนั้น นอกจากระบบ M-Flow จะต้องมีประสิทธิภาพแล้ว บริษัท Outsource ที่จะเข้ามาบริหารจัดการระบบหลังบ้านจะต้องมีศักยภาพสูงมากเช่นกัน ด้วยค่าจ้าง 120 ล้านบาทต่อปี กับภาระหน้าที่ บริหารจัดการระบบ ตรวจสอบรถ เรียกเก็บเงิน ออกบิลไปจนถึงติดตามทวงหนี้ ภายใต้เงื่อนไข คือ เงินค่าผ่านทางจะต้องส่งตรงเข้ากรมทางหลวงแบบ 100% ภายในเวลาที่กำหนด ...ถือว่าต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม นับจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีนโยบายให้กรมทางหลวง และ กทพ.ดำเนินการศึกษาและนำระบบ M-Flow มาทดลองใช้ประมาณ 1 ปีเศษเท่านั้น ถือว่าเป็นผลงานจากไอเดียของ รมต.สมัยแรก ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ที่เหลือก็รอดูผล ว่าจะถูกใจ...หรือได้เสียงบ่น มากกว่ากัน