xs
xsm
sm
md
lg

“อธิรัฐ” สั่งเร่งพลิกโฉม “ชุมชนคลองเตย” เป็น Smart Community ขีดเส้นสำรวจประชากรจบต้นปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
โปรเจกต์ปรับโฉม “ชุมชนคลองเตย” เป็น Smart Community ล่าช้า “อธิรัฐ” สั่ง กทท.เร่งสำรวจ 26 ชุมชน และออกแบบให้เสร็จในต้นปี 64 เร่งประมูลผุดอาคารเฟส 1 กว่า 2.3 พันล้าน ตอกเข็มต้นปี 66 ดันท่าเรือกรุงเทพเป็น City Port
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ( กทท.) ตามนโยบายในปี 2563 ว่า การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ยังมีความล่าช้า โดยให้ กทท.เร่งสร้างความเข้าใจและดำเนินการสำรวจความต้องการของคนในชุมชนให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 และในขณะนี้ให้เร่งออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักในเฟสที่ 1 ควบคู่ไปด้วย โดยตั้งเป้าให้เริ่มก่อสร้างในปี 2566

กทท.รายงานว่า โครงการ Smart Community มีแผนดำเนินการปี 2562-2581 งบประมาณ 9,856.666 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 เฟส โดยเฟส 1 จะเป็นการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารบริวาร วงเงิน 2,351.050 ล้านบาท โดยการออกแบบรายละเอียดจะเสร็จในเดือน ส.ค. 2564 ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA สำรวจประชากรในชุมชนคลองเตย กทท.ได้ขยายสัญญาจ้าง ม.มหิดลไปถึงต้นปี 2564 เนื่องจากที่ผ่านมาติดเรื่องโควิด-19 กระทบต่อการลงพื้นที่ และในปี 2565 จะมีการเสนออนุมัติโครงการ ประมูลหาผู้ก่อสร้างและเริ่มตอกเข็มต้นปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2568 และจะเริ่มก่อสร้างเฟส 3 เริ่มก่อสร้างปี 2571 และเฟส 4 เริ่มก่อสร้างปี 2574 โดยโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2578

ทั้งนี้ จากการสำรวจชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ 2,600 ครัวเรือนจากทั้งหมด 13,000 ครัวเรือน 26 ชุมชน พบว่าเลือกอยู่อาศัยในอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ 59%, ต้องการย้ายไปที่ดินหนองจอก 6% และรับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา 26% และมีส่งทีมด้านประชาสัมพันธ์เพื่อรับฟังประชาชนในแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ได้กำชับให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ ท่าเรือระนอง ซึ่งมาตรการป้องกันโควิด-19 ของ กทท.ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 มีการตรวจเรือโดยสารและเรือสินค้าระหว่างประเทศ คัดกรองแล้วรวม 6,310 ลำ มีลูกเรือ 19,0,200 ราย และได้ควบคุมตามมาตรการ ศบค.และกรุงเทพมหานคร โดยให้เรือทุกลำแจ้งใบสำแดงสุขภาพลูกเรือ รายงานการเข้าเทียบท่า 10 ท่าเรือย้อนหลัง บันทึกอุณหภูมิลูกเรือย้อนหลัง 10 วัน ส่งเอกสารถึงด่านก่อนเข้าเทียบท่า 24 ชม. และเมื่อเรือเทียบท่าจะมีเจ้าหน้าที่ของด่านขึ้นตรวจที่เรือ และห้ามลูกเรือออกจากเรือ และบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นบนเรือที่เทียบท่าเด็ดขาด

นายอธิรัฐกล่าวว่า จากที่พบว่าผลประกอบการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของยังขาดทุน ซึ่งได้ให้ทำแผนเพิ่มรายได้ และอัตราค่าเช่าสินทรัพย์ที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในการกำหนดแผนและพิจารณาอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม รวมถึงหานักลงทุนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ว่างในท่าเรือ

สำหรับในปี 2564 จะต้องเร่งพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็น city port โดยมีท่าเรือแหลมฉบังเป็น Gateway รองรับเรือขนาดใหญ่ และให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์สนับสนุนการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode และมุ่งยกระดับการให้บริการท่าเรือต่างๆ ที่มีระบบให้บริการกึ่งอัตโนมัติเพื่อลดมลพิษ (Green Port) เปลี่ยนเครื่องมือทุ่นแรงเป็นระบบไฟฟ้า มุ่งสู่การเป็น Smart Port และได้สั่งการเพิ่มเติมให้ กทท.เร่งออกมาตรการในการป้องกันยาเสพติด และออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อยกระดับให้เป็น White Port




กำลังโหลดความคิดเห็น