ผู้จัดการรายวัน 360 - โควิด-19 ได้เร่งสินค้า FMCG อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีแซงหน้าเพอร์ซันนัลแคร์ ดันอีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากพฤติกรรมเข้าใช้งานอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น 50%
นางสาวภรวดี พรมิ่งมาศ ผู้อำนวยการ หัวหน้าทีมฝ่ายข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงรายงานล่าสุดของนีลเส็นภายใต้หัวข้อ Spot It Right : เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้เข้ามาดูการเติบโตในปัจจุบันของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบนอีคอมเมิร์ซ และเผยข้อมูลว่า
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของผู้บริโภคในประเทศไทยอย่างมาก พฤติกรรมในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของผู้บริโภคในช่วงโควิดในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน
โดยในกรุงเทพมหานครมีการเข้าไปซื้อของทางออนไลน์บ่อยขึ้น 22% แต่มีการใช้จ่ายต่อเที่ยวน้อยลง 14% ในทางตรงกันข้าม ในเขตเมืองต่างจังหวัดจะมีจำนวนครั้งที่เข้าไปจับจ่ายน้อยลง 22% แต่มียอดใช้จ่ายต่อเที่ยวสูงขึ้น 19%
ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มสินค้า FMCG หรือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต โดยเฉพาะอาหารแห้งโต 244% อุปกรณ์ช่วยในการปรุงอาหารโต 87% และอาหารสำเร็จรูป/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโต 30% (ข้อมูลนับจากต้นปีมาถึงเดือนกรกฎาคม 2020 เทียบกับปี 2019) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารนั้นมีสัดส่วนเป็น 78% เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงก่อนโควิด
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสินค้า 10 อันดับแรกที่มีการเติบโตทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในขณะที่ออฟไลน์น้อยลง พบว่า 8 ใน 10 หมวดหมู่นั้นมาจากหมวดอาหารด้วยกันทั้งสิ้น
“ปกติแล้วเราจะเห็นผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เป็นผู้นำในมูลค่าการขายและการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์มาตลอด แต่ครั้งนี้การเติบโตของสินค้าประเภทของชำและอาหารที่พุ่งขึ้นสูงกว่าผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และแม้ว่ามูลค่าของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์จะยังน้อยกว่าหมวดหมู่ที่ไม่ใช่อาหาร แต่ก็เป็นกลุ่มออนไลน์ที่กำลังเติบโต ซึ่งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนคิดเป็น 84% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาด FMCG ออนไลน์และออฟไลน์
“นั่นทำให้กลุ่มสินค้านี้มีโอกาสในการเติบโตสำหรับผู้ค้าปลีกออนไลน์อีกมาก เราเห็นว่าขณะนี้การชอปปิ้งสินค้าประเภทอาหารออนไลน์นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจากสถานการณ์ทำให้เป็นโอกาสของผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้าในการรักษาและขยายฐานนักชอปออนไลน์ของตน” นางสาวภรวดีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความหลากหลาย และการประหยัดเวลา เป็นสาเหตุหลักที่ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ในขณะที่เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าแบบออฟไลน์คือความคุ้นเคย ประสบการณ์ ความต้องการที่จะออกไปข้างนอก และเพื่อหลีกเลี่ยงค่าจัดส่งหรือการรอที่เกิดขึ้นจากการจัดส่ง ซึ่งผู้บริโภคออนไลน์ให้ความสำคัญเปรียบเทียบราคา 41% และค้นหาโปรโมชันที่เหมาะสม 40% ก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์ ดังนั้น ทั้งผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้า FMCG ออนไลน์จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการรับมือความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคด้วยการสร้างข้อเสนอของสินค้าที่แตกต่างออกไปในแต่ละเส้นทางการชอปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเองอย่างแท้จริง