ปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน หรือ AMEM ครั้งที่ 38 รูปแบบออนไลน์ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ชูความสำเร็จเตรียมปรับเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนปี 2568 จาก 30% เป็น 35% EE&C ปรับจาก 30% เป็น 32% พร้อมร่วมซื้อขายไฟ 4 ประเทศ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ 100 MW เริ่มซื้อขายภายในปี 65-66
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเปิดเผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 (38th AMEM) รูปแบบออนไลน์ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพว่า การประชุมครั้งนี้มีผลสำเร็จที่เกิดขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะเห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานระยะที่ 2 ปี 2564-2568 โดยมีแนวคิด คือ “มุ่งเน้นการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านความยืดหยุ่นทางพลังงานเพื่อไปสู่นวัตกรรมที่ดีกว่า” โดยเฉพาะด้านพลังงานหมุนเวียนอาเซียนได้เพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2568 จากเดิม 30% เป็น 35% และเร่งสนับสนุนกิจกรรมด้านพลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 23% ภายในปี 2568 ส่วนด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน(EE&C) ได้เพิ่มเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานจากเดิม 30% เป็น 32% ภายในปี 2568
“อาเซียนประสบความสำเร็จในปี 2561 ลด EE&C ได้ 21% สูงกว่าเป้าหมายปีนี้เลยปรับเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งทิศทางดังกล่าวไทยเองก็จะต้องปรับแผนพลังงานทดแทนให้สอดรับกับอาเซียนด้วยซึ่งคงจะไม่มีปัญหาอะไรเพราะไทยเองก็ถือว่าได้ดำเนินการมาเป็นอย่างดี” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (APG) มีการขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีภายในภูมิภาคจาก 3 เป็น 4 ประเทศ และมีการให้คำมั่นจะลงนามในบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศคือ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และจะเริ่มทำการซื้อขายภายในปี 2565-2566 และเป้าหมายต่อไปยังมองความร่วมมือไปยังเมียนมาร์ และกัมพูชา
ส่วนด้านการเชื่อมโยงด้านก๊าซ (TAGP) ได้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ (สถานีกักเก็บ LNG) ปัจจุบันอาเซียนมีความสามารถในการรองรับได้ทั้งสิ้น 38.75 ล้านตัน/ปี ใน 9 สถานี และส่งเสริมการค้า small scale LNG และการสร้างเสถียรภาพของตลาด LNG ในภูมิภาค
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ยังมีกรอบความร่วมมืออาเซียน +3 จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก โดยได้เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการเป็น Low Carbon Society ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาเซียนขอบคุณหน่วยงานทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ที่สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการทำการศึกษาต่างๆ
ทั้งนี้ อาเซียนยังได้แสดงความยินดีกับบรรดาผู้ได้รับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี 2563 ทุกประเภท ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดด้านการอนุรักษ์พลังงาน 14 รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน 11 รางวัล และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก 3 รางวัล
“การประชุม AMEM ครั้งที่ 38 นี้ ไทยได้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียน และได้นำเสนอ นโยบายและผลักดันความร่วมมือทางด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งทาง IEA ให้ความสนใจและติดตามฟังผลโครงการดังกล่าวในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว