xs
xsm
sm
md
lg

UN-ESCAP ไทยจับมืออินโดนีเซีย เปิดตัวการใช้ข้อมูลเอเชีย-แปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) GISTDA และองค์การอวกาศของประเทศอินโดนีเซีย (LAPAN) ร่วมกันเปิดตัว “รายงานรวบรวมแนวปฏิบัติการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งประกอบด้วย ตัวอย่างแนวปฏิบัติด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและข้อมูลเชิงพื้นที่มากกว่า 80 ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ และพันธมิตรในภูมิภาค เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ณ GISTDA ศรีราชา เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถศึกษาและนำแนวปฏิบัติในรายงานไปใช้ในประเทศของตน

ฯพณฯ อิบู อาร์มีดา ซัลเซียะห์ อะลิสจาห์บานา (UNESCAP) กล่าวว่า “การบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศด้วยข้อมูลสถิติและข้อมูลภาคพื้นดินที่มีอยู่จะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งมอบข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อสนองความต้องการของรัฐบาล ภาคธุรกิจ ชุมชน และประชาชน ให้สามารถทำการตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ ด้วยแรงกระตุ้นจากใช้นวัตกรรมดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกใช้ประโยชน์จากข้อมูลภูมิสารสนเทศในการสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19” โดยรายงานรวบรวมแนวปฏิบัติการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2020 (The Geospatial Practices for Sustainable Development in Asia and the Pacific 2020 : A Compendium) จะนำเสนอให้เห็นภาพรวมของสถานะและความก้าวหน้าด้านภูมิสารสนเทศต่างๆ เช่น การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การเชื่อมโยงเครือข่าย การพัฒนาทางสังคม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมนำเสนอแนวปฏิบัติมากกว่า 80 ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้ความเห็นว่า UNESCAP ถือเป็นองค์กรสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีความหลากหลายทางความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีให้สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ รายงานดังกล่าวถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมในความพยายามของ UNESCAP และประเทศสมาชิกในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ สทอภ.มีความยินดียิ่งที่มีส่วนสำคัญให้แนวปฏิบัติของประเทศไทยปรากฏในรายงานดังกล่าวกว่า 15 ตัวอย่าง และยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุน UNESCAP ในการอนุวัติแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มที่ และย้ำถึงการผลักดันให้ระดับบริหารนโยบายได้นำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ อย่างจริงจัง

ดร.โธมัส จาร์มาลูห์ดิน ประธานองค์การอวกาศแห่งชาติของอินโดนีเซีย (LAPAN) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ช่วยในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยปัจจุบัน LAPAN นำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ตอบ SDGs 6 เรื่อง ได้แก่ SDG 2 ขจัดความหิวโหย, SDG6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล, SDG11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน, SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, SDG14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และ SDG15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

สำหรับพิธีการเปิดตัวรายงานดังกล่าวจัดทำแบบ Hybrid (on site and on line) และมีการถ่ายทอดสดผ่าน Youtube และ Facebook ไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายบัมบัง พี.เอส. โบรโจเนอโกโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยี ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับการเปิดตัวรายงานดังกล่าวด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น