xs
xsm
sm
md
lg

ECI for Smart Jewelry : ทางเลือก-ทางรอด อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GIT และ CCI ประกาศเดินหน้างานประชุมวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หนุนผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทจิวเวลรี 3-4 พ.ย. 63 นี้

สำหรับผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ต้องบอกว่างานนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) กำลังสร้างผลกระทบไปทั่วโลก อุตสาหกรรมหลายชนิดต้องปิดตัวลง และหลายอุตสาหกรรมก็มีแต่ทรงและรอวันทรุด ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน

และในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CCI) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงร่วมกันมองหาโอกาสและทางเลือกเพื่อความดำรงอยู่ได้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในเมืองไทย ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของงานประชุมวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry

ก่อนที่งานจริงจะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563 นี้ เรานั่งสนทนากับ “แม่งาน” ทั้งสองท่าน คือ คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (GIT) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CCI) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมบอกเล่าถึงที่มาที่ไป วัตถุประสงค์ ความตั้งใจ รวมทั้งไฮไลต์ภายในงานที่จะพูดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่า พลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด สำหรับผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
ในเบื้องต้น อยากให้คุณสุเมธเล่าถึงความเป็นมาของสถาบันและแนวคิดในการจัดงาน conference ครับว่ามีที่มาอย่างไร

คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย : โดยบทบาทหน้าที่ GIT ของเราเป็นองค์กรหลักอยู่แล้วในด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เรามีพันธกิจโดยตรงในหลายๆ เรื่อง อันดับแรกสุดคือเราเป็นสถาบันตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับมีค่า รวมถึงโลหะมีค่าแห่งชาติ เราเป็นศูนย์วิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ทั้งหมดมาพัฒนาอุตสาหกรรม และเราก็เป็นศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งตรงนี้ก็จะมาลิงก์กับทาง CCI โดยในแต่ละปี GIT จะมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อที่จะดูว่าในอุตสาหกรรมปัจจุบันมีทิศทางที่จะพัฒนาไปอย่างไรได้บ้าง โดยเราก็พยายามที่จะให้คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชิ้นงานทั้งหมดในประเทศไทยแล้วก็สร้างมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เรามองหาพาร์ตเนอร์

CCI เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งเราเข้าไปลิงก์ด้วย และเห็นว่าทาง CCI ก็มีหน้าที่สร้างบุคลากรและพัฒนาเรื่องการดีไซน์ จึงเกิดการต่อยอดในการทำโครงการร่วมกัน

ทุกวันนี้เราเจอปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ PM 2.5 มาจนถึงโควิด และพอโควิดเกิดขึ้นมา อุตสาหกรรมแย่เลย หลายโรงงานปิดตัวลง ตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักก็หยุดเลย กระทบผู้ประกอบการของเราที่เป็น OEM นอกจากนั้นคือ พอเจอล็อกดาวน์ กิจกรรมทั้งหมด งานรื่นเริง งานเลี้ยง ที่คนต้องใช้เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม ก็หายไปด้วย พอหายไปก็ขายไม่ได้แล้ว เราก็มองว่าทำอย่างไรจะให้ธุรกิจเครื่องประดับดำรงอยู่ได้ เราจึงมีโครงการทำการวิจัยในเรื่อง Smart Jewelry รวมทั้ง Beyond Jewelry เพื่อทำให้เครื่องประดับมีคุณค่ามากกว่าการเป็นเพียงเครื่องประดับ

ที่ผ่านมาเราลิงก์กับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เช่น เครื่องประดับที่เป็นอุปกรณ์ฟอกอากาศไปด้วยในตัว, อุปกรณ์แหวนป้องกันนิ้วล็อก หรืออย่างผู้ประกอบการบางราย เราก็เห็นว่าเขาทำ Mask ฝังพลอยฝังเพชรเข้าไปเพื่อที่จะทำให้มี Value มากขึ้นและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ทำให้เกิดงาน Conference ครั้งนี้ GIT สนับสนุนให้มีการจัดงานนี้ขึ้น โดยเรามีความเชื่อมั่นว่า CCI จะเข้ามาช่วยต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมากในอนาคต เนื่องจากความเชี่ยวชาญของ CCI และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี
แล้วในส่วนของ CCI ล่ะครับ อาจารย์ช่วยเล่าความเป็นมาและภารกิจของ CCI ว่าเป็นอย่างไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี : CCI (Creative Collage Industry) เริ่มมาตั้งแต่เรามีหลักสูตรอัญมณีในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี 2535 แล้วก็มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาก่อน จนกระทั่งมาถึงจุดที่การเติบโตของธุรกิจอัญมณีขึ้นไปแตะที่ 4 แสนล้าน เราก็เริ่มทำในส่วนของการพัฒนาบุคลากรเข้าไปในอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีบุคลากรที่จบออกไปอยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 1,400 ราย และมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขยายขึ้น

อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้เราเริ่มเห็นการทรงตัวของอุตสาหกรรมนี้ จึงเกิดมีความคิดว่าคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เราก็เริ่ม Merge กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมของตกแต่งบ้าน คณะวิทยาศาสตร์จึงมารวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์เพื่อเกิดเป็น CCI เพื่อที่จะ Spin Another Value คือสเต็ปต่อไปของอุตสาหกรรมอัญมณีจะต้องมีการฟิวชันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

อันที่จริงต้องบอกว่าเวลานี้กราฟมันเริ่มเปลี่ยน เราจึงต้องมองหาเซตของการ Spin ขึ้นของอุตสาหกรรม ขณะที่องค์ความรู้ซึ่งเรามีอยู่อาจจะไม่พอ และเราน่าจะเริ่ม Merge กับอุตสาหกรรมอื่นๆ คือเรา Merge กับแฟชั่นและของตกแต่งบ้านก็อาจจะยังไม่พอ เราต้อง Merge กับอุตสาหกรรมที่นำไปสู่ยุคสมัยใหม่ให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเราได้เริ่มกับทาง GIT ที่ต้องการให้คิด Conference อะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะหาทางร่วมกันว่าสเต็ปต่อไปจะไปอย่างไร ซึ่งเราพร้อมที่จะเป็นแรงหนุนด้านวิชาการและกำลังคนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

และนั่นก็เป็นหนึ่งในไอเดียตั้งต้นและจุดประสงค์หลักของการจัดงาน Conference ครั้งนี้ใช่ไหมครับ ดังนั้นอยากให้อาจารย์ช่วยกล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจในงานนี้ คือวิทยากรที่จะมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ ตรงนี้มีที่มาจากภาคส่วนไหนอย่างไรบ้างครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี : วิทยากรส่วนหนึ่งก็เป็นคณาจารย์ของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ถ้าเนื้องานมันมีความใหม่และทันสมัยจริงๆ เราก็จะใช้วิทยากรที่เขามีประสบการณ์จริงในอุตสาหกรรม ซึ่งก็มีทั้งจากเครือข่ายของ GIT และ CCI รวมถึงเครือข่ายต่างประเทศที่เรามีอยู่ ตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะถึงแม้จะมีปัญหาโควิด แต่ทุกคนก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน ZOOM เข้ามาได้


ขยายความอีกสักนิดก็คือว่า ในงานที่เราจัดนี้จะมีวิทยากรมาจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น Creative Economy Agency ซึ่งจะมาบอกว่าเขากำลังจะ Fusion รวมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรม Creative Industry Jewelry อย่างไรบ้าง คือเราต้องการนำเสนอให้เห็นภาพว่าถ้าเอา Electronics มาบวกกับ Jewelry หรือเอา Smart Device ต่างๆ ที่ Beyond Jewelry มารวมกัน แล้วมันจะออกมาเป็นภาพอะไรได้บ้าง

โดยภายในงานก็จะมีนิทรรศการ มีตัวอย่างให้ดู ผู้ประกอบการก็จะเห็นภาพว่า เออ มันทำได้นะ เราก็ยังคงใช้สกิลความเป็น OEM ของเราเหมือนเดิม แต่เพียงแค่ว่าเราอาจจะไปจับมือกับอุตสาหกรรมข้างเคียงหรืออุตสาหกรรมอื่นที่เป็น Expert ในเมืองไทยเหมือนกัน ขณะที่อุตสาหกรรม Electronics ก็มีความเข้มแข็งระดับหนึ่ง แค่จับมือแล้วก็ทำโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา จะได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งในงานนี้ก็จะทำให้เห็นภาพมากขึ้นและก็อยากจะชวนผู้ประกอบการที่กำลังมองหาทางออกว่าจะออกจากธุรกิจเดิมๆ อย่างไร ก็อาจจะ Fresh ไอเดียแล้วก่อเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้

เราพอจะพูดได้ไหมครับว่า งานนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่อาจจะทำให้พบทางเลือก ทางรอด หรือทางเติบโต หลังโควิดของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย : สำหรับผม มันเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะเราก็พยายามให้มี Innovation กับอุตสาหกรรม เราไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เราเป็นผู้สนับสนุน การที่เราพยายามที่จะมีสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเราเห็นว่ามันเป็นเทรนด์ มีการทำวิจัย มีการซัปพอร์ตในเรื่องของข้อมูล รวมทั้งมีต้นแบบให้ผู้ประกอบการได้เห็น เพื่อเป็นทางเลือกให้เขา ผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และที่สำคัญ ผมคิดว่าถ้าผู้ประกอบการมองเห็นแล้วและสามารถต่อยอดได้ นั่นก็คือนอกจากจะเป็นทางเลือก ยังจะเป็นทางรอดให้เขาด้วย ผมคิดว่าผู้ประกอบการของไทยเรามีความเก่งอยู่แล้ว ถ้ามีใครไปทักต่อม “เอ๊ะ” เขานิดหนึ่ง ผมว่าไปได้ไกล ซึ่งงานนี้ผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่างมากเลยครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี : เราอยากให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะหาโอกาสใหม่ๆ หรือหาช่องทางใหม่ๆ ให้ลองเข้ามาดูงานนี้ เพื่อที่จะเปิดโอกาสตัวเองให้เห็นภาพของ Device หรือว่าสินค้าใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะว่าเห็นภาพอย่างเดียว แต่ว่าในงานมันจะมี Connection ของ Industry ด้วย คือถ้าเขาไปเดินหาเอง อาจจะไม่มีใครที่บอกว่าอยากจะ Join กันหรอก แต่ในงานนี้มันมีตัวอย่าง มีของมาโชว์ มันน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เขา Plug-In ได้ง่ายขึ้น สามารถคุยธุรกิจได้ในงานเลย นอกจากนี้เราก็มีภาครัฐเข้ามา ทั้ง สวทช. หรือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งก็จะมีการให้คำแนะนำในกรณีที่ถ้าเราอยากทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาภาครัฐพร้อมแบ็กอัพซัปพอร์ต ก็จึงต้องการเชิญชวนผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับทั้งรายเก่ารายใหม่ ไม่อยากให้พลาดงานนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น