xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดอุปกรณ์แพทย์ 5 หมื่นล้านทรุด รพ.ปรับงบ-เน้นเช่า-ประมูลเลื่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ฟิลิปส์ชี้ตลาดรวมอุปกรณ์การแพทย์ 50,000 ล้านบาท ตกลง 7-10% หนักสุด เหตุจากโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับโควิด โรงพยาบาทเอกชน-ราชการปรับงบลงทุนซื้อ ต้องปรับทิศหันมาเน้นตลาดเช่ามากขึ้น

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และสุขภาพในไทยมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในส่วนของตลาดกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่าสัดส่วน 50,000 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะติดลบประมาณ 7-10% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ติดลบมากขนาดนี้ เพราะผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก แต่คาดว่าสถานการณ์โดยรวมอาจจะฟื้นตัวดีขึ้นช่วงปี 2564-2565 ที่จะเติบโตได้ 4-6% 

ในส่วนของกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ ฟิลิปส์ก็คาดว่าจะตกตามตลาดรวมที่ 7-10% โดยรายได้จากอุปกรณ์การแพทย์มีประมาณ 60% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 40% จากรายได้รวมบริษัทในไทย ขณะที่รายได้กว่า 70% มาจากอุปกรณ์การแพทย์ขนาดใหญ่ และมีลูกค้าเป็นภาคราชการประมาณ 70% และเอกชน 30% ซึ่งฟิลิปส์ถือเป็นผู้นำ 1 ใน 3 ของตลาด


อย่างไรก็ตาม ต้องมองว่าในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดที่เป็นการรักษาทั่วไปนั้น ทรงตัว ขณะที่กลุ่มอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิดโดยตรงและโดยอ้อม เช่น เครื่องวัดการเต้นหัวใจ ซึ่งฟิลิปส์เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจเป็น 4 เท่า และโรงงานเพิ่มระยะเวลาการทำงาน 24/7 ชั่วโมง เป็นต้น จะยังเติบโตดี แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่ราคาไม่สูง จึงทำให้ตลาดรวมยังคงติดลบ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งภาคราชการและเอกชนมีการปรับงบประมาณไปซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และชะลอการซื้ออุปกรณ์ส่วนอื่นที่มีราคาสูงและไม่เกี่ยวข้องกับโควิดมากนัก จึงทำให้ภาพรวมตกลงด้วย อีกทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดใหม่ในปีนี้ก็น้อยลงด้วย การประมูลอุปกรณ์การแพทย์ของราชการก็มีการเลื่อนออกไปมากทำให้ตลาดใหญ่คือการประมูลช่วงปลายปีก็กระทบ ซึ่งตลาดการประมูลอุปกรณ์การแพทย์ของราชการมีสัดส่วนถึง 60% จากตลาดรวม 50,000 ล้านบาท 

“ช่วงการระบาดของโควิด-19 วงการแพทย์เกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากกำลังผลิตต่ำลง เช่น เครื่องช่วยหายใจ มอนิเตอร์ติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย เทรนด์ทางการแพทย์ ได้เร่งให้เกิดการผลักดันสู่ยุค Smart Health เร็วขึ้น เพื่อให้แพทย์และคนไข้เว้นระยะห่างกันมากขึ้น ซึ่งฟิลิปส์เองก็มีนวัตกรรมและโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine มากกว่า โดยเฉพาะด้าน Tele-ICU”


ปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์มีโอกาสเติบโต คือ 1. หากยังมีการระบาดของโควิด-19 ความต้องการเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และ Telemedicine, 2. จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น, 3. อัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และเบาหวาน เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ 1. หากการระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง สภาวะเศรษฐกิจจะถดถอย จากมาตรการล็อกดาวน์ และงดการบิน การท่องเที่ยวภายในประเทศ, 2. เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ป่วยมีกำลังซื้อน้อยลง และไปโรงพยาบาลน้อยลง ทำให้การลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนชะลอตัว ซึ่งในปี 2564 มีแค่บางโรงพยาบาลเท่านั้นที่เริ่มกลับมามีกำลังซื้อ, 3. หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสอง อาจส่งผลให้นโยบาย Medical Hub ของไทยต้องชะลอออกไป 


“ปีนี้ฟิลิปส์คงต้องปรับกลยุทธ์หันมาเน้นตลาดให้เช่าอุปกรณ์การแพทย์มากขึ้น ทั้งภาคเอกชนและราชการ ซึ่งหลายแห่งก็เริ่มทำแบบนี้เพราะไม่ต้องการลงทุนมาก อีกทั้งเทคโนโลยีมีการพัฒนาต่อเนื่อง จึงคิดว่าตลาดเช่าน่าจะเหมาะสมกว่าในช่วงนี้ เราจึงเน้นตรงนี้มากขึ้น พร้อมกับการเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ๆ” นายวิโรจน์กล่าว

ไฮไลต์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ใหม่ล่าสุดของฟิลิปส์ เช่น Ingenia MRI Elition 3.0Tesla/ Ambition1.5Tesla, Azurion5 - เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจรุ่นล่าสุด, Intrepid defibrillator - เครื่องกระตุกหัวใจที่โดดเด่นด้วยขนาดเล็ก น้ำหนักเบา, EPIQ CVx - เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงรุ่นล่าสุด, EPIQ Elite - เครื่องอัลตราซาวนด์ด้านสูตินรีเวช ที่ให้ภาพสุดคมชัดแบบ 4 มิติ, Tele-Radiology Solution - ระบบการส่งภาพตรวจทางรังสีวิทยาแบบทางไกล, Trilogy Evo - เครื่องช่วยหายใจเกรดโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้






















กำลังโหลดความคิดเห็น