“กรมเจ้าท่า-จิสด้า” เซ็นเอ็มโอยู ร่วมมือพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ส่งต่อข้อมูลดาวเทียมแบบเรียลไทม์ ชี้เป้าพื้นที่แก้ปัญหาผักตบชวา กัดเซาะชายฝั่ง และสิ่งรุกลำล้ำน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพลดการลงทุนซ้ำซ้อนประหยัดงบประมาณ คาด 3 เดือนประสานข้อมูลสมบูรณ์นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า GISTDA ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ และพัฒนานวัตกรรมในการกำกับดูแล และพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาบุคลากร รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลภูมิสารสนเทศ ข้อมูลการกำกับดูแลด้านการขนส่งทางน้ำ พร้อมนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้เพื่อการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการขยะและมลพิษทางทะเล ด้านการบริหารการกัดเซาะชายฝั่ง ด้านการกำกับดูแลการรุกล้ำลำน้ำ ด้านการบริหารจัดการผักตบชวา การติดตามสภาวะแวดล้อม กระแสลม กระแสคลื่นที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และภารกิจอื่นๆ
กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษางานที่จิสด้า ในขณะเดียวกันจะนำข้อมูลที่กรมฯ มีไปประสานกันเพื่อต่อยอดการพัฒนาฐานข้อมูลและทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศ เนื่องจากไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อนกัน คาดว่าภายใน 3 เดือนการบูรณาการข้อมูลระหว่างกันจะสมบูรณ์และนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องแรกที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การกำจัดผักตบชวา ข้อมูลดาวเทียมจากจิสด้าที่เรียลไทม์จะชี้เป้าให้กรมฯ เข้าไปดำเนินการด้วยความรวดเร็ว รวมถึงข้อมูลเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ จิสด้าจะส่งข้อมูลให้กรมฯ นำไปออกแบบวางแผนป้องกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
“จิสด้ามีภาพถ่ายดาวเทียมที่กรมฯ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ใช้เป็นพยานเชิงประจักษ์ในการเข้าแก้ไขปรับปรุง ทั้งเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง การรุกล้ำลำน้ำ มีภาพเปรียบเทียบในแต่ละปีที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ จะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และประสานกับกรมที่ดินและอาจจะขอข้อมูลทางดาวเทียมจากจิสด้าเป็นครั้งคราว แต่ความร่วมมือนี้จะบูรณาการระบบการทำงานร่วมกัน” นายวิทยากล่าว
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ในฐานะที่จิสด้ามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียมหลากหลายความละเอียด ทั้งดาวเทียมไทย และดาวเทียมเครือข่ายต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น การติดตามพื้นที่น้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การติดตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล
ซึ่งความร่วมมือกับกรมเจ้าท่าจะเป็นการสนับสนุนภารกิจของทั้งสองฝ่ายโดยใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งสามารถมองเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นน้ำทั้งหมด ทั้งสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการกัดเซาะชายฝั่ง โดยจะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้กรมเจ้าท่านำไปดำเนินการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ามีพื้นที่รับผิดชอบในการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลัก 6 สาย ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำท่าจีนสายเก่า ตลอดจนลำคลองธรรมชาติสาขาในเขตความรับผิดชอบรวม 13 จุดรวมระยะทางยาวกว่า 550 กม. โดยในแต่ละปี มีปริมาณผักตบชวาประมาณ 909,300 ตัน