สนข.ครบรอบ 18 ปี ลุย 7 นโยบาย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง คาด พ.ย.ประกาศกฎกระทรวง เพิ่มสปีด 120 กม./ชม. พร้อมเดินหน้า แผนแม่บทแก้รถติด และ MR-MAP “มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ เร่งออกแบบ ปี 65 ผุดเส้นทางนำร่อง
วันที่ 9 ต.ค. นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานใน โอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 18 ปีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมพร้อม ด้วย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ) รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ สนข. และผู้บริหารสนข. ร่วมงาน ซึ่งได้มีการ มอบทุนการศึกษา ให้แก่บุตรข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สนข. ที่มีผลการเรียนดี
โดย ปี 2563 สนข. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เช่น 1. การจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนด 2 แนวคิด คือ การเพิ่มผิวถนนในจุดที่จำเป็น โดยก่อสร้างอุโมงค์ ทางลอด ทางยกระดับ สะพานข้ามทางแยก การแก้ไขคอขวดและ ทำ Missing Link และ ลดปริมาณรถบนถนน โดยการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) สร้าง Skywalk เป็นต้น
2. การปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีการพิจารณาทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะพื้นที่ และกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 กำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะถนนจึงควรปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว ให้มีความสอดคล้องกัน โดยการปรับจากเดิมที่กำหนดอัตราความเร็วในเขตเมือง เทศบาล/นอกเขตเมือง เทศบาล เป็นกำหนดอัตราความเร็วตามลักษณะถนน เช่น ถนน 2 ช่องจราจร, 4 ช่องจราจร , มี/ไม่มีเกาะกลาง โดยยังมีการจำกัดความเร็วในพื้นที่ถนนในเขตชุมชน ถนนหน้าโรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ในช่องจราจรขวาสุดด้วย ทั้งนี้จะสามารถประกาศบังคับใช้เป็นกฎกระทรวงฯ ได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563
3. แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยจัดทำ “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาคคมนาคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ( 2563 – 2564) เช่น ตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์รถ/เรือสาธารณะ รถและเครื่องจักรของผู้รับเหมา รตรวจจับควันดำรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก การเปลี่ยนไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 แก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บเงิน ทางด่วน และมอเตอร์เวย์
มาตรการระยะกลาง ( 2565 – 2569) ส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน ,ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รถโดยสารสาธารณะ/เรือโดยสารสาธารณะเป็นพลังงานสะอาด (NGV/EV)
มาตรการระยะยาว ( 2570 – 2575) การบังคับใช้มาตรการทางภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง การเปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือสำหรับท่องเที่ยว/ผู้โดยสาร/Port City การจำกัดการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในเมือง และการเปลี่ยนให้รถโดยสารสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด เป็นต้น
4. การบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดย ในปี 2564 จะมีการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP ทั่วประเทศ ปี 2565 ดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ของ โครงการนำร่อง ปี 2566 - 2568 จะมีการเวนคืนที่ดินและคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) เพื่อก่อสร้าง โครงการนำร่องที่คัดเลือกไว้
5. ขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 (Action Plan) จำนวน 27 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 749,831.08 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 10,795.25 ล้านบาท ประกอบด้วย 27 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ( PPP) เห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 2563 มีจำนวน 14 โครงการ และ โครงการที่เริ่มประกวดราคา /ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้ภายใน 2563 จำนวน 13 โครงการ
6. การพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบให้กับประชาชน ด้วยบัตรเพียงใบเดียว
7. ศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ประกอบด้วย 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 100.55 กิโลเมตร โดยมีโครงการนำร่อง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง และสายสีส้ม เปิดให้บริการในปี2566