“สุพัฒนพงษ์” เร่งเครื่องศึกษาแนวทางลดต้นทุน มอบ “กกพ.” เร่งประสาน 3 การไฟฟ้าเฟ้นหาวิธีหลังสำรองพุ่งสูง “กกพ.” แย้มแนวทางเบื้องต้นหั่น ROIC 3 การไฟฟ้าปี 2563 วงเงินราว 2,000 ล้านบาทลดต้นทุน แต่ยังขอเคลียร์ให้ชัดถึงภาพรวมอีกครั้ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานถึงกรณีปัญหาสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นสูงอยู่ในระดับ 37-40% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงจากปกติสำรองควรอยู่ไม่เกิน 15% ของกำลังการผลิตนั้นเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ได้น่ากังวลแต่อย่างใดเนื่องจากโรงไฟฟ้าเก่าจะทยอยถูกปลดออกจากระบบและแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวจะทำให้การใช้ไฟในระยะยาวกลับมาสู่ภาวะปกติได้ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประสานกับ 3 การไฟฟ้าให้หาแนวทางลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟของประชาชน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอ ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดต่ำลง จึงทำให้สำรองไฟปรับเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าหลายประเทศก็เผชิญปัญหาเดียวกัน ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งระยะสั้นนี้ก็ต้องแก้ไขไม่ให้สำรองที่สูงส่งผลกระทบค่าไฟ โดยอาจไปดูในเรื่องการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดก่อน เป็นต้น” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.ได้หารือกับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)) ในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการปรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ในปี 2563 ลงมาประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้จะต้องไปดูรายละเอียดร่วมกันอีกครั้งเนื่องจากการใช้ไฟฟ้าที่ลดต่ำอาจทำให้ 3 การไฟฟ้ามีรายได้ลดลง
“ปัจจุบัน ROIC ของ 3 การไฟฟ้ากำหนดไว้ไม่เกิน 6% การจะปรับลดในอัตราดังกล่าวก็คงจะต้องดูว่าไม่ให้กระทบการดำเนินงานของ 3 การไฟฟ้า ดังนั้น ตัวเลขที่ชัดเจนก็ต้องไปดูว่าจะลดลงได้เท่าไหร่เพราะต้องคำนึงถึงผลประกอบการด้วย” นายคมกฤชกล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในรอบใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 64) ที่จะประกาศภายในสิ้นปีนี้นั้นยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะลดลงจากปัจจัยที่ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่อิงราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือนจะมีทิศทางที่ถูกลง แต่ก็ยอมรับว่าการใช้ไฟฟ้าก็ลดต่ำไปด้วยทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ว่าโอกาสปรับลดลงจะมีมากน้อยเพียงใดเพราะยังจะต้องพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอีกด้วย โดยแนวทางการพิจารณาการลดต้นทุนภาพรวมมีโอกาสที่จะเห็นผลสะท้อนไปยังค่า Ft ในงวดใหม่นี้