เอกชนเสนอรัฐเสริมแกร่งดึงลงทุนอีอีซีด้วย ลดความเสี่ยงภัยแล้งและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ด้าน PTTGC วางแผนลงทุนเพิ่ม ส่วน 3 โครงการยักษ์มาตามนัดพร้อมผลิตไตรมาส 4/63
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าลงทุนในอีอีซี แม้จะเกิดปัญหาโควิด-19 โดยศึกษาการร่วมทุนผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษวงเงิน 3-4 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า หลังจากที่ได้ลงทุนในอีอีซีแล้วราว 1 แสนล้านบาท ล่าสุด 3 โครงการหลักทยอยแล้วเสร็จ เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 นี้
ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอีอีซี ต้องการเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว รวมถึงการจัดหาที่ดินภาคอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้พื้นที่เต็มและค่าเช่านิคมอุตสาหกรรมมีราคาสูง โดยจะนำเสนอต่อ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานต่อไป
"โครงการหลัก 3 โครงการในอีอีซีแม้ล่าช้าไป 2 เดือนจากผู้เชี่ยวชาญเดินทางไม่ได้ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 แต่ขณะนี้โครงการทยอยเสร็จ และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/63 โครงการ ORP เริ่มคอมมิชชันนิ่งทดสอบเดินเครื่อง โครงการ PO สตาร์ทแล้ว โครงการโพลิออลส์ผลิตได้ของแล้ว ส่วนโครงการใหม่ในไปป์ไลน์ก็เดินหน้าหารือ ศึกษาร่วมทุน ซึ่งทำให้อย่างน้อยจ้างพนักงานใหม่ได้ 300-400 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้จากโครงการใหม่ที่เกิดขึ้น" นายคงกระพันกล่าว
บริษัทมีการขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดโครงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการหลักที่ตอบสนองนโยบาย New S-Curve ของภาครัฐ โดย 3 โครงการหลักพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4/63 ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนในแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) เพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบของบริษัทฯ และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน และโพรพิลีน 250,000 ตัน มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท, 2. โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) และ 3. โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่ PA9T 13,000 ตัน/ปี และ HSBC 16,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลปรับปรุงคือสิทธิประโยชน์ในอีอีซีให้สามารถแข่งขันได้กับเวียดนาม เพราะขณะนี้จะเห็นว่านักลงทุนเบนเข็มไปเวียดนามเพราะมีสิทธิประโยชน์สูงมาก